สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561
วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561
นัดดากับชีวิตที่ถูกกระทำ
Based
on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
เจ้าของเรื่อง:
ผู้หญิงและเด็กที่พักพิงอยู่ในบ้านพักฉุกเฉิน
ผู้เขียน:
ปองธรรม สุทธิสาคร ,Edit:จิตรา นวลละออง
หญิงร่างบางวัย 36 ปี กำลังเดินเก็บเศษขยะไปรอบๆ
สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ อย่างชนิดเอาเป็นเอาตาย
เปล่าเลย...เธอไม่ได้เป็นคนรักสะอาด
หรือมีน้ำใจไมตรีอยากช่วยเหลืองานของแม่บ้าน หากแต่เป็นเพราะเศษขยะ คือสิ่งที่เธอชอบนำไปเก็บสะสมไว้
คล้ายกับใครหลายๆคน ที่ชอบสะสมภาพของดารานักร้องนักแสดงชื่อดัง เป็นงานอดิเรก
สิ่งที่หญิงสาวทำ
มองอีกมุมหนึ่งก็ชักชวนให้น่าคิด...คนแบบไหนกันที่สะสมเศษขยะเป็นของตัวเอง ใครๆ
ที่นี่เรียกขานเธอว่า “นัดดา”
นัดดา
เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน แต่เรื่องฐานะความเป็นอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่สุด
เมื่อเทียบกับการเกิดมาในบ้านที่ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวนิยมใช้ความรุนแรง
ภาพของพ่อที่ทำร้ายทุบตีแม่
คือภาพที่นัดดาเห็นจนชินตามาตั้งแต่เด็ก
ยามใดที่ผู้เป็นพ่อเมากลับมาบ้าน เมื่อนั้นแม่ของเธอก็จะกลายเป็นกระสอบทรายคอยรองรับทั้ง
หมัด เท้า เข่า ศอก แถมพ่อยังด่าทอแม่ด้วยถ้อยคำหยาบคายต่างๆ
นานาเหยียบย่ำความเป็นผู้หญิงของแม่จนต่ำตมจมดิน
มิใช่เพียงแต่แม่เท่านั้นที่ถูกพ่อทำร้ายทุบตี
ลูกสาวอย่างเธอเองก็ถูกผู้นำครอบครัวต่อย เตะ อยู่บ่อยๆ หลายครั้งเมื่อเธอทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ
เด็กหญิงจะถูกซ้อมเพื่อเป็นการสั่งสอนให้หลาบจำ
แทนที่ชีวิตจะได้พบเจอกับความอบอุ่นเหมือนเช่นเด็กทั่วไป นัดดากลับต้องเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความเก็บกดและความหวาดกลัว
เด็กหญิงร่างบางไม่กล้าแม้แต่จะสบตากับผู้คน และมีกิริยาที่ดูลุกลี้ลุกลน
ไม่มั่นใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา
นัดดา
มีสามีตั้งแต่ยังสาวรุ่น ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน พ่อของลูกแทบจะถอดนิสัยมาจากพ่อแท้ๆของนัดดาทุกกระเบียดนิ้ว
ทั้งติดเหล้า เสพยาบ้า และเมื่อเธอทำอะไรไม่ถูกใจ เขาจะระบายอารมณ์ด้วยการใช้ความรุนแรง
“นัดดา เป็นคนที่โชคร้ายมาก สามีชอบใช้ความรุนแรง กลับบ้านมาไม่มีอะไรเตรียมไว้ให้กินก็ตบเธอ
บางครั้งก็จับเอาหัวเธอโขกกับกำแพง ตลอดเวลาหลายสิบปีที่อยู่ด้วยกัน เธอต้องทนรองรับความรุนแรงแบบนี้แทบทุกวัน
จิตใจจมอยู่แต่กับความหวาดกลัว จนอยู่ในสภาพไม่ปกติ ขณะเดียวกันเธอก็สะสมความรุนแรงเอาไว้ในตัว
หากมีใครก็ตามที่ทำให้เธอรู้สึกว่าตนมีอำนาจเหนือกว่าก็พร้อมจะระบายความรุนแรงเข้าใส่ทันที
จากผู้ที่ถูกกระทำมาตลอด อีกทางหนึ่งเธอก็กลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงเสียเอง”
นักจิตวิทยา
แห่งบ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
ผู้ทำหน้าที่ประเมินคัดกรองสภาพจิตใจของสมาชิกในบ้านพักฉุกเฉิน ได้แสดงทัศนะในกรณีของนัดดาไว้อย่างน่าสนใจ
ไม่ว่าชีวิตของมนุษย์จะพบเจอกับปัญหามากมายเท่าใด
ความรุนแรงไม่เคยเป็นหนทางในการแก้ปัญหาที่ดี ตรงกันข้ามปัญหาเหล่านี้มีแต่จะสะสมเพิ่มพูน
ไม่ต่างอะไรจากระเบิดเวลาที่รอวันนับถอยหลัง ความรุนแรงที่สะสมอยู่ในใจของนัดดาก็เช่นกัน
เมื่อนานวันเข้าเธอก็ส่งต่อความรุนแรงที่ตนเองเคยได้รับไปสู่ผู้เป็นลูก
“เมื่อลูกทำในสิ่งที่เธอไม่พอใจ เธอก็ไปลงกับลูก เนื่องจากลูกเป็นคนเดียวที่เธอรู้สึกว่ามีอำนาจเหนือกว่า
เธอทำลงไปทั้งๆ ที่เธอก็รักลูก”
การถูกทำร้ายที่สั่งสมมานานหลายสิบปี
ส่งผลให้สภาพจิตใจของนัดดาไม่ปกติ และกลายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชในที่สุด
“ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวช จะมีลักษณะบางอย่างที่ไม่เหมือนคนปกติ
อาจมากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็จะแสดงอาการออกมาไม่ว่าจะเป็นแววตา ท่าทาง การพูดจา หรือมีบุคลิกแปลกๆ
อย่างนัดดานี่เห็นครั้งแรกก็พอจะตั้งข้อสงสัยได้เลย เนื่องจากการไม่ดูแลตนเอง เหาเต็มศีรษะ
ผอมแห้งจนหนังติดกระดูก และไม่ใส่ใจรักษาความสะอาด”
นอกเหนือจากประเมินจากลักษณะภายนอกที่ทำให้รู้ว่านัดดามีภาวะที่ต่างจากคนปกติทั่วไป
ยิ่งเมื่อได้ลองนั่งพูดคุยด้วยกันยิ่งย้ำชัดยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่นักจิตวิทยาคาดการณ์ไว้นั้นถูกต้องอย่างไม่ผิดเพี้ยน
“คุยกับนัดดาครั้งแรกเธอเอาแต่อยู่ในโลกของเธอ เหม่อลอยพูดไปเรื่อยไม่ยอมหยุด
ต้องคอยบอกย้ำให้เธอกลับมาหาปัจจุบันอยู่ตลอด ดีหน่อยที่ยังไม่ถึง ขั้นหูแว่ว
ประสาทหลอน หรือมีอาการหนักถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย แต่ก็ต้องคอยระวังดูแลด้วยการให้ทานยาจิตเวชและไม่ให้มีสิ่งเร้าที่จะมากระตุ้นให้เธอเกิดอาการคลุ้มคลั่ง”
แม้จะพยายามระมัดระวังเป็นอันดี
แต่ด้วยความที่ต้องอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก แถมแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหาของตัวเอง
ทำให้การกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ ในยามที่จิตใจของนัดดาถูกกระทบกระเทือนมากๆ
จนยากจะเยียวยาไหว บ้านพักฉุกเฉินจะส่งตัวเธอไปรักษาที่สถานพยาบาลเฉพาะทางเป็นระยะๆ
กระทั่งอาการดีขึ้นจึงไปรับตัวกลับมา
บ้านพักฉุกเฉิน
ได้พยายามผลักดันให้สาวใหญ่ร่างผอมบางผู้นี้ได้ปรับตัวเพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนและใช้ชีวิตอย่างคนปกติในสังคมให้ได้
ด้วยการให้ออกไปทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาดที่บ้านหลังหนึ่ง แน่นอนว่าการส่งเสริมให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตไปทำงานนั้น
ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างแรกต้องเป็นความร่วมมือระหว่างบ้านพักฉุกเฉินกับบ้านนายจ้างที่มีน้ำใจและให้การยอมรับผู้ด้อยโอกาส
ต่อมาจึงเริ่มทดลองส่ง นัดดาไปทำงาน และเอาใจช่วยกันแทบจะวันต่อวันว่าขอให้การทำงานของนัดดาเป็นไปอย่างราบรื่น
อย่างน้อยก็เพื่อตัวเธอเอง และเพื่อลูกของเธอ
ช่วง 2-3 เดือนแรก บ้านพักฉุกเฉินไปเยี่ยมไปติดตามผล ปรากฏว่าสุชาดาสามารถทำงานและอยู่ร่วมกับครอบครัวนายจ้างได้ดี
แต่พอเดือนถัดมานัดดาก็เริ่มมีอาการเหม่อลอย
ตาขวางใส่นายจ้างทำให้นายจ้างและครอบครัวเกิดความกลัว และ ต้องพานัดดามาส่งคืนที่บ้านพักฉุกเฉิน เนื่องจากนัดดามีอาการตัวแข็ง
ตาขวาง ทำให้นายจ้างและคนในครอบครัวรู้สึกหวาดกลัว
ที่สุดแล้ว
แม้นัดดาจะไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง แต่เธอก็อยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินจนครบกระบวนการในการดูแล
ฟื้นฟู และบำบัดเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่ทางสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ต้องส่งต่อไปให้บ้านหลังใหม่เพื่อช่วยดูแลฟื้นฟูอาการทางจิตของเธอต่อไป
ในมุมมองของนักจิตวิทยาของบ้านพักฉุกเฉินมองว่า
ผู้ป่วยทางจิตใจเช่น นัดดา นั้นน่าเห็นใจกว่าคนที่เป็นโรคร้ายทางร่างกายด้วยซ้ำไป
“เรารู้สึกว่าผู้ป่วยจิตเวชเขาน่าสงสาร น่าเห็นใจ
เพราะอาการทางกายยังมียารักษาได้ แต่อาการทางใจที่ถูกกระทำย่ำยีจนแทบจะสูญเสียความเป็นมนุษย์คงไม่มียาชนิดไหนจะรักษาให้หายขาดได้เลย
ต่อให้เป็นโรคร้ายอย่างเอชไอวี แต่ผู้ป่วยก็ยังสามารถรักตัวเองเป็น รักคนอื่นได้
กินอาหารที่อร่อย ทำอะไรที่เป็นความสุขของชีวิตได้อีกหลายอย่าง แต่สำหรับผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนหมดคุณค่าในตนเองจนกระทั่งกลายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชความสุขของพวกเขาได้ถูกทำลายให้หมดไปตั้งนานแล้ว”
ตลอดชีวิต
36 ปีของนัดดานั้นเธอตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาตลอด จนถึงวันนี้ นัดดา
ได้ไปใช้ชีวิตในบ้านสงเคราะห์ของภาครัฐ
ซึ่งก็คงต้องให้การดูแล ฟื้นฟูบำบัด สภาพจิตใจของเธอกันต่อไป
แม้จะไม่รู้ว่าจะมีวันใดที่นัดดาจะสามารถกลับมาเป็นปกติ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือผู้ป่วยจิตเวชอย่างเธอล้วนแล้วแต่น่าเห็นใจเสมอ
………………………………………………………………………………………………………………..
หากผู้หญิงและเด็ก
ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี
สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่
สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1
ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ
10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม.
ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-7 ต่อ 109,113
E-mail:
admin@apsw-thailand.org เว็บไซต์สมาคม www.apsw-thailand.org
วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2561
About สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เป็นองค์กรเอกชนสาธารณกุศล ซึ่งไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2523 โดย แม่ชีคุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ ซึ่งท่านมองเห็นการเลือกปฏิบัติ ต่อสตรีและความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศอันนำไปสู่การริดรอนสิทธิส่วนบุคคล เอารัดเอาเปรียบ ผู้หญิงและเด็กในหลายลักษณะ เช่น ล่อลวง ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ บังคับให้ค้าประเวณี จนนำไปสู่ปัญหาท้องเมื่อไม่พร้อม บ้างก็ถูกทารุณกรรม ทอดทิ้ง ติดเชื้อ HIV/AIDS จากบุคคลในครอบครัว ฯลฯ จึงก่อกำเนิดเป็นโครงการบ้านพักฉุกเฉิน เพื่อเป็นที่พักพิงชั่วคราวทั้งทางกายและใจให้แก่ผู้หญิง และเด็กที่เดือดร้อนซึ่งประสบปัญหาวิกฤตในชีวิต ให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย อาหาร ดูแล สุขภาพอนามัย รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำ การให้ทักษะชีวิตและกำลังใจ ใช้หลักการสังคม สงเคราะห์และกระบวนการจัดกลุ่มบำบัดทางจิต การส่งเสริมความรู้และฝึกอาชีพ เพื่อนำไปสู่ความเชื่อมั่นในตนเองสามารถ ดำเนินชีวิตในสังคมได้ปกติสุข ทั้งนี้ในแต่ละวันมีผู้หญิงและเด็กที่เดือดร้อนพักอาศัยประมาณ 70-80 คนต่อวัน โดยมี นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาเป็นผู้ให้การดูแล ทั้งยังรับปรึกษาทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมงโทร. 02-9292222
บ้านพักฉุกเฉิน รับ ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่เดือดร้อนจากปัญหาต่างๆ เช่น• ถูกกระทำความรุนแรง• ถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ• ท้องไม่พร้อม• ติดเชื้อ เอช ไอ วี / เอดส์• ขัดแย้งภายในครอบครัว• ไม่มีงานทำและไม่ที่มีที่พัก• ถูกทอดทิ้ง ไร้ที่พักอาศัย
ซึ่งจะรับช่วยเหลือแทบจะทุกกรณี ยกเว้นทุพพลภาพ เจ็บป่วย บาดเจ็บ จนช่วยเหลือตนเองไม่ได้-เดินไม่ได้ วิกลจริต ผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ ในระยะสุดท้าย หรือโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ
หากประสบปัญหาดังกล่าสามารถเดินทางมาขอรับความช่วยเหลือได้ทุกวันตลอด24ชั่วโมง(ไม่มีวันหยุดค่ะ) โดยนำเอกสารประจำตัวต่างๆมาด้วย ส่วนของใช้ไม่ต้องเอามาก็ได้ค่ะที่นี่มีให้
การเดินทางบ้านพักฉุกเฉินอยู่ตรงข้ามกับสนามบินดอนเมือง การเดินทางหากมาจากต่างจังหวัด 1.ลงรถที่รังสิต มาต่อรถเมล์ที่ป้ายรถประจำทางหน้าโรงหนังเมเจอร์รังสิตขึ้นรถเมล์ สาย 29,59,187 หรือรถปอ.สาย29,510,187,538 บอกกระเป๋ารถเมล์ว่า ลงป้ายสถานีตำรวจดอนเมือง เมื่อลงป้ายนั้นแล้วให้เดินข้ามสะพานลอย มานั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง บอกว่า มาบ้านพักฉุกเฉินค่ามอเตอร์ไซด์ 20 บาท2.ลงรถที่ขนส่งเอกมัย ให้นั่งรถเมสาย 38 มาลงอนุเสารีย์ชัยสมรภูมิ หรือนั่งรถไฟฟ้าที่สถานีเอกมัยมาลงที่สถานีอนุเสาวรีย์ชัยฯ หรือสถานีจตุจักรก็ได้ แต่ถ้าลงอนุเสารีย์ชัย ต่อสาย29, ปอ.29 ปอ.510 จะเป็นช่วงต้นสายจะได้นั่ง แต่ถ้ามาต่อตรงจตุจักรแม้จะใกล้กว่าแต่อาจจะต้องยืนหรือรถอาจจะแน่นเพราะรถเมล์จะเต็มมาจากอนุเสาวรัย์ชัย และเมื่อมาต่อรถเมล์สาย สาย29, ปอ.29 หรือ ปอ.510 บอกกระเป๋ารถเมล์ว่ามาลงป้าย สน.ดอนเมือง พอลงป้ายนั้น แล้วให้ต่อมอเตอร์ไซด์รับจ้างจากฝั่งที่ลงรถ บอกว่า มาบ้านพักฉุกเฉิน ค่ามอเตอร์ไซด์ 20 บาท3.ลงรถที่ขนส่งหมอชิต ให้ต่อรถเมล์ สาย77 จากในหมอชิต เพื่อมาลงที่จตุจักร ต่อรถเมล์ที่ป้ายฝั่งจตุจักร สาย 29 หรือรถปรับอากาศสายปอ.29,ปอ.510 บอกกระเป๋ารถเมล์ว่ามาลงป้าย สน.ดอนเมือง พอลงป้ายนั้น แล้วให้นั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง จากฝั่งที่ลงรถ บอกว่า มาบ้านพักฉุกเฉิน ค่ามอเตอร์ไซด์ 20 บาท
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
ชีวิตใหม่
ชีวิตใหม่ Based on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เรื่อง : ผู้หญิงในบ้านพักฉุกเฉิน , ผู้เขียน : จิตรา นวลละออง...

-
ชีวิตใหม่ Based on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เรื่อง : ผู้หญิงในบ้านพักฉุกเฉิน , ผู้เขียน : จิตรา นวลละออง...
-
Based on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เรื่อง : ผู้หญิงในบ้านพักฉุกเฉิน “ถ้ากลับไปหาเขาก็กลับไปตายค่ะ ...กล...
-
รักที่ทำร้าย Based on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เรื่อง : ผู้หญิงในบ้านพักฉุกเฉิน , ผู้เขียน : จิตรา นวลละ...