วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562

...ส่งสุขปีใหม่ 2563...สุขใจผู้ให้ เติมกำลังใจผู้รับ...

...ส่งสุขปีใหม่ 2563...สุขใจผู้ให้ เติมกำลังใจผู้รับ...

ในวาระโอกาสพิเศษ ต้อนรับปีใหม่ 2563 ที่ใกล้จะเวียนมาถึงนี้ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ขอเชิญชวนทุก ๆ ท่าน ร่วมเป็นผู้ให้ ส่งต่อความสุข ใน เทศกาลปีใหม่ 2563 ผู้ด้อยโอกาส ใน บ้านพักฉุกเฉินสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ...ส่งสุขปีใหม่ 2563...สุขใจผู้ให้ เติมกำลังใจผู้รับ...
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนงานประชาสัมพันธ์ โทร.0 2 9292 308 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-17.00น.(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) หรือ สามารถ ส่งข้อความทางอินบ็อกซ์ เฟซบุ๊กสมาคมฯได้ทุกวันเวลาค่ะ
*กรณีบริจาคเงิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เป็นองค์กรการกุศลตามประกาศกระทรวงการคลัง ผู้บริจาคเงินให้สมาคมฯ สามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี ตามกฎหมายกำหนดได้ #บริจาค #เลี้ยงอาหาร #ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กบ้านพักฉุกเฉิน #สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ







วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562

บาดแผลที่มองไม่เห็น (รีไรท์)




บาดแผลที่มองไม่เห็น
Based on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
เจ้าของเรื่อง: ผู้หญิงและเด็กที่พักพิงอยู่ในบ้านพักฉุกเฉิน   ผู้เขียน: จิตรา นวลละออง
       
       
    สำหรับประเทศไทยนั้นยังมีผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากอีกมากมาย เช่น ครอบครัวของ “สวย” ที่พ่อแม่ขาดความรู้ และการวางแผนครอบครัว ทั้งยังมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการคุมกำเนิด จึงส่งผลให้มีลูกมาก และยากจน ทำให้ครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้วต้องยากจนมากขึ้นไปอีก เลยไม่สามารถส่งลูกเรียนหนังสือได้ ลูกที่เกิดมาเมื่อพอรู้ความก็ต้องทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว  ปัญหาที่ตามมา คือ ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ปัญหาการทารุณกรรม ความไร้เมตตาธรรม ฯลฯ
  
              “สวย” เด็กผู้หญิงซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของครอบครัวอันแสนยากจนครอบครัวหนึ่ง  พ่อ-แม่ของสวยมีลูกทั้งหมดรวม 6 คน สวยจึงมีน้องเล็ก ๆ อีก 5 คนให้ต้องดูแล แม่เป็นแรงงานสำคัญของครอบครัวเพราะพ่อแขนข้างขวาอ่อนแรงทำงานหนักไม่ได้เพราะเคยตกต้นไม้  และพ่อมักหาเรื่องทะเลาะกับแม่ด้วยเหตุเมาและหึงหวง  สวยเรียนจบป.6 ซึ่งก็มากพอสำหรับครอบครัวที่ปากกัดตีนถีบรับจ้างทำงานไปวัน ๆ และไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แถมยังมีลูกดกยั้วเยี้ยให้ต้องเลี้ยงดู 

     หลังจากเรียนจบ สวยได้ไปรับจ้างทำงานก่อสร้างแต่ก็ถูกโกงค่าแรง จนต้องออกจากงาน ไม่นานก็มีคนในหมู่บ้านซึ่งเป็นนายหน้าหาเด็กไปทำงานบ้านให้กับคนรวย มาพูดกับแม่เพื่อชักชวนให้ส่งลูกไปทำงาน สวยจึงได้เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 15 ปี นายจ้างของสวยเป็นครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่มีฐานะร่ำรวย คุณผู้หญิงของบ้านเป็นคนเดียวที่อยู่บ้านทุกวัน  คุณผู้ชายไปทำงาน   ลูก ๆ ทั้งสี่คนของคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายไปเรียนที่มหาวิทยาลัย
          เวลางานของสวยเริ่มตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง สวยต้องทำงานบ้านทุกอย่างในบ้านหลังใหญ่เพียงคนเดียว ต้องล้างรถทุกคัน ต้องซักผ้าด้วยมือแม้จะมีเครื่องซักผ้าแต่คุณผู้หญิงไม่ให้ใช้  ต้องจัดเตรียมอาหาร และอื่น ๆ อีกมากมายตามแต่คุณผู้หญิงจะสั่ง  สวยทำงานหนักแต่ไม่เคยได้รับเงินเดือน เพราะคุณผู้หญิงบอกว่าจะส่งให้แม่เอง สวยไม่มีวันหยุด วันไหนงานน้อยจะได้เข้านอนตอนเที่ยงคืน  อาหารของสวยในแต่ละมื้อถ้าไม่ใช่ น้ำเปล่า ก็เป็นข้าวที่หลงเหลือมาจากวันไหน ๆ ก็ไม่รู้ซึ่งถูกแช่ไว้ในตู้เย็น บางวันดีหน่อยก็จะมีพริก เป็นกับข้าว 
     แม้สวยจะลำบากต้องกินข้าวเคล้าน้ำตา แต่สวยก็บอกตัวเองให้อดทนเมื่อนึกถึงใบหน้าของคนที่รอคอยอยู่ที่บ้าน นานวันเข้าสภาพร่างกายของเด็กสวยที่ไม่ได้รับสารอาหารก็ทรุดโทรมลง แขนขาลีบเล็ก ผอมโซ ดำคล้ำ คล้ายไม้เสียบผีเข้าไปทุกวัน เมื่อสุขภาพแย่ลง งานของสวยก็ไม่ค่อยเรียบร้อย จึงมักถูกลงโทษด้วยการด่าทอและทุบตี ถ้าคุณผู้หญิงโกรธมาก ๆ  ก็จะใช้เข็มขัดหนัง หัวเหล็กฟาดมาตามตัวและศีรษะของสวย หรือไม่ก็เอาเก้าอี้ไม้สักฟาดเข้าที่กลางหลัง หรือไม่ก็ให้สวยตบปากตัวเองจนปากแตก บางครั้งก็บังคับให้เอาหัวโขกพื้น  ลูก ๆ ของคุณผู้หญิงก็เคยห้ามปรามแต่ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง จนต่อมาดูเหมือนเรื่องเด็กสวยถูกทำร้ายกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของครอบครัวนี้…
    แล้ววันที่สวยต้องเจ็บปวดที่สุดในชีวิตก็มาถึง วันนั้นสวยเป็นไข้ แต่ก็ต้องทำงานหนักอย่างเช่นเคย  เสียงคุณผู้หญิงสั่งงานเข้าหูบ้างไม่เข้าบ้าง ซึ่งขัดใจคุณผู้หญิงเป็นอย่างมาก หญิงวัยกลางคนที่หน้าตาและการแต่งกายดูดีส่งเสียงโหวกเหวกด่าทอเด็กลูกจ้างที่นั่งซักผ้าอยู่ที่ลานซักล้างชั้น 2 ของบ้านหลังใหญ่  สิ้นเสียงนั้นก็ตามมาด้วยเสียง "ปึ๊ก" ท่อแป๊ปเหล็กรูปทรงกลมที่ใช้เป็นราวตากผ้าไม่ทราบขนาดฟาดเข้ากลางหลังของเด็กน้อยจนเด็กหล่นจากเก้าอี้ ความเจ็บแล่นเข้าสู่กลางลำตัว จนต้องยกมือไหว้ร้องขอความเมตตา "คุณผู้หญิงอย่าทำหนู หนูกลัวแล้ว" คุณผู้หญิงหยุดชะงัก เด็กน้อยมีความหวังว่าคุณผู้หญิงคงสงสารตน แต่ฉับพลันคุณผู้หญิงกลับก้มลงคว้าเก้าอี้ไม้ตัวเล็กฟาดตามลงมา เด็กน้อยก้มศีรษะเพื่อป้องกันภัยตามสัญชาติญาณการเอาตัวรอด "โพล้ะ" เสียงเก้าอี้กระทบกับด้านหลังศีรษะของสวย สวยรู้สึกตุบ ๆ ที่ศีรษะ จากชาหนึบกลายเป็นเจ็บปวด จึงค่อย ๆ ยกมือขึ้นแตะคลำศีรษะของตนเอง มีน้ำข้นๆ เหนียวเหนอะ สีแดงเข้ม และมีกลิ่นคาวติดมือมา  แม้สวยจะได้รับบาดเจ็บแต่สวยยังต้องกัดฟันทำงานต่อไปจนดึก ความทรมานจากบาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยาเลยได้ส่งผลให้สวยตัวร้อนราวกับไฟ ลมหายใจเข้าออกผ่าวร้อนจนแสบจมูก ลำคอแห้งผาก ปากแตกเป็นขุยจนเลือดออกซิบ ๆ
    เช้ามืดคุณผู้หญิงมาปลุกสวย และสั่งให้เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า แล้วลากตัวสวยมาโทรศัพท์หาป้าเพื่อฝากข้อความไปยังแม่โดยบังคับให้พูดตามที่คุณผู้หญิงสั่งเท่านั้น แต่สวยกลับนิ่งเฉย จึงเป็นการกระตุ้นอารมณ์โกรธของคุณผู้หญิงอีกครั้ง เธอยกเท้าขึ้นมาตบหน้าสวยหลายที จากนั้นก็ลากสวยออกจากบ้านขึ้นรถ และพาไปส่งที่หัวลำโพงเพื่อส่งขึ้นรถไฟกลับบ้าน  นั่นคือสิ่งที่ทำให้สวยคิดว่าคงไม่ต้องพบเจอกับคุณผู้หญิงอีกแล้ว แต่โลกมันกลม และใครทำอะไรไว้ย่อมได้รับผลจากการกระทำนั้นเสมอ…
    หลังจากสวยหลับๆ ตื่น ๆ ด้วยพิษไข้อยู่บนรถไฟเพียงลำพังจนสถานีปลายทาง สวยลงจากรถไฟหาเศษเหรียญหยอดตู้โทรศัพท์ไปหาป้าเพื่อให้ช่วยไปบอกแม่ จากนั้นสวยแข็งใจแบกสังขารของตนเองไปนั่งรถสองแถวที่ป้าบอกเพื่อไปเจอแม่กับป้า ที่หน้าหมู่บ้าน 
แม่... หญิงชาวบ้านผู้ยากจนน้ำตาคลอเมื่อเห็นสภาพของลูกสาวคนโตที่จากบ้านไปนาน มืออันหยาบกร้านของแม่เอื้อมมาจับตัวลูกสาวคนโตดึงตัวเข้าไปสวมกอด เหมือนเส้นความอดทนของสวยได้ขาดสะบั้นลง สวยปล่อยโฮออกมาอย่างสุดชีวิต เสียงร้องไห้ของสวยกรีดลึกลงไปกลางใจกลางหัวอกคนเป็นแม่ จนไม่สามารถบอกได้ว่าจากเหตุการณ์นี้ใครเจ็บปวดกว่ากัน…
    ด้วยความช่วยเหลือของป้า สวยถูกนำตัวไปรับการรักษายังโรงพยาบาลประจำจังหวัด และมีองค์กรเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ หลังจากนั้นสวยได้ถูกพากลับมาสู่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อรับการบำบัด เยียวยา ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงด้านการดำเนินคดี ณ บ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง ที่เปรียบเหมือนบ้านหลังใหม่ของสวย เธอได้เติบโต ได้เรียนหนังสือ ได้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อเธอ
   เมื่อมีการขึ้นศาล สวยก็ยังต้องโคจรมาพบกับคุณผู้หญิงอีกครั้งที่ศาล แต่ สวยไม่ต้องสู้เพียงลำพังอีกแล้ว ข้าง ๆ ตัวสวยมีหลาย ๆ คนที่รักเธอ ร่วมยืนเคียงข้างและสู้ไปด้วยกัน หลายปีคดีจึงสิ้นสุด ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาได้ตัดสินไปในทิศทางเดียวกันว่า “จำเลยกระทำผิดจริง” จึงเป็นอันสิ้นสุดกระบวนการคดีประวัติศาสตร์ "ใช้แรงงานเด็กเยี่ยงทาส" เนื่องจากเป็นคดีแรกของไทย ที่มีคำพิพากษาในความผิดฐานการเอาเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีลงเป็นทาส ตามมาตรา 312 ทวิ วรรค 2 ประกอบมาตรา 312 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
    สวยในปัจจุบันช่างแตกต่างจากวันวานนัก ภาพวันวานเธอเคยนั่งกอดเข่าซ่อนใบหน้าไว้ราวกับว่าเป็นที่ซ่อนตัวอันปลอดภัย จากโลกภายนอก เด็กน้อยคนนั้นมีร่างกายซูบผอมคล้ายเด็กขาดสารอาหาร   กระดูกตามข้อปูดโปนจนน่ากลัวว่ามันจะทะลุผิวหนังออกมา  ผิวหนังคล้ำแห้งแตกเป็นขุย ส้นเท้าแตกเป็นริ้ว ๆ ผมหยาบกระด้างสีดำตัดสั้นแทบติดหนังศีรษะ และยังเว้า ๆ แหว่ง ๆ  ที่ตรงเกือบกลางศีรษะมีรอยฝีเข็มเย็บแผล เป็นช่องโหว่ที่ไม่มีผมขึ้นแม้สักเส้น ภาพเด็กคนนั้นในวันเก่าไม่มีให้เห็นอีกแล้ว
    จากอดีตที่สาหัสที่สุดในชีวิตของสวย เป็นเวลาที่เหมือนจะยาวนานและน่าจะลบเลือนสิ่งต่าง ๆ อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นจนหมดสิ้น แต่ในใจของสวยยังคงมีแผลที่เรามองไม่เห็น คล้ายกับบาดแผลบนศีรษะของเธอที่ยังคงเป็นแผลเป็น มีช่องโหว่ที่เส้นผมจะไม่งอกขึ้นมาอีกแล้ว เพียงแต่ผมในส่วนอื่นยาวขึ้นและได้ปกปิดแผลเป็นนั้นเอาไว้  แม้จะเจ็บปวดเมื่อนึกถึงแต่สวยก็เล่าถึงเหตุการณ์เหล่านั้นได้ด้วยรอยยิ้ม ไม่ว่าชีวิตจะผ่านช่วงเวลาดีหรือร้ายอย่างไรมา แต่ชีวิตก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป 
และ ...ความรักความเมตตาเท่านั้นที่จะค้ำจุนโลกใบนี้ไว้...
........................................................................................................................................
    หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว  ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่...
    สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1  ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. 
    ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-3 ต่อ 109,113 E-mail: admin@apsw-thailand.org เว็บไซต์สมาคม www.apsw-thailand.org   เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/apswthailand.org 

วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ผู้หญิง/เด็กผู้หญิงถูกฆ่าโดยคู่รัก/คู่ชีวิต/คนในครอบครัว มากที่สุด

บ้านสถานที่ที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิง
        บ้าน คือ สถานที่ที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิง โดยเหยื่อการฆาตกรรมส่วนใหญ่ทั่วโลกถูกสังหารโดยคู่รัก/คู่ชีวิต หรือคนในครอบครัว 
        จากรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการฆาตกรรมทั่วโลก ของ UNODC - United Nations Office on Drugs and Crime (สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ) เปิดเผยว่า

... ในปี 2017 มีผู้หญิงจำนวน 87,000 คน ถูกฆ่าตายโดยเจตนา มากกว่าครึ่งหนึ่ง 
(58 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 50,000 ราย) ถูกฆ่าตายโดยคู่รัก/คู่ชีวิตหรือสมาชิกในครอบครัว 
ซึ่งหมายความว่า ผู้หญิง 137 คนทั่วโลกถูกฆ่าตายโดยคนในครอบครัวของตัวเองทุกวัน 
... ผู้หญิงมากกว่าหนึ่งในสาม (ประมาณ30,000ราย) ถูกฆ่าตายโดยเจตนาด้วยน้ำมือของ ถูกแฟน/คู่รัก/คู่ชีวิต/คู่สมรส หรืออดีตคู่ชีวิต ที่พวกเขาไว้วางใจ
  จากการสำรวจอัตราการตกเป็นเหยื่อการฆาตกรรมโดยชีวิตหรือสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดพบว่าอัตราทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1.3 รายต่อประชากรหญิง 100,000 ราย  ในแง่ของการกระจายทางภูมิศาสตร์แอฟริกาและอเมริกาเป็นภูมิภาคที่ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากที่สุดจากการถูกฆ่าตายโดยคู่ชีวิต คนที่ใกล้ชิดหรือสมาชิกในครอบครัว
      ในแอฟริกาอัตราดังกล่าวอยู่ที่ 3.1 เหยื่อต่อประชากร 100,000 คนในขณะที่อัตราในอเมริกาคือ 1.6 เหยื่อในโอเชียเนีย 1.3 และเอเชีย 0.9 อัตราที่ต่ำที่สุดพบในยุโรปโดยมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ 0.7 คนต่อประชากรหญิง 100,000 คน
     ซึ่งรายงานการวิจัยใหม่นี้ได้ เผยแพร่ในวันสตรีสากล (25 พ.ย 2018) เพื่อการขจัดความรุนแรงต่อสตรี โดยได้ทำการตรวจสอบข้อมูลการฆาตกรรมที่มีอยู่ทั่วโลกเพื่อวิเคราะห์การฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ โดยให้ความสำคัญกับคู่รัก/คู่ชีวิต คนที่ใกล้ชิด และการฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว สถานภาพและบทบาทของสตรีในสังคม ในขณะที่ตามตัวเลขสถิตินั้นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการฆาตกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้ชายซึ่งแม้ว่าเพศชายถูกฆาตกรรมมากกว่าเพศหญิงแต่ก็ไม่ได้ถูกฆาตกรรมจากคนใกล้ชิดหรือคู่รักคู่ชีวิตหรือคนในครอบครัว เหมือนกับที่ผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงต้องตกเป็นเหยื่อจากคนที่ไว้ใจ เนื่องจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ การเลือกปฏิบัติและทัศนคติที่ไม่ดี เพศหญิงยังมีแนวโน้มที่จะถูกสังหารโดยคู่ชีวิตและคนในครอบครัว/คนที่ไว้ใจ/ที่ใกล้ชิดที่สุด
สามารถอ่านรายงานการวิจัยฉบับเต็มได้ที่ 
ข้อมูลจาก https://www.unodc.org/

วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2562

พลอย


พลอย

Based on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
เรื่อง : ผู้หญิงในบ้านพักฉุกเฉิน  
  ผู้เขียน : จิตรา นวลละออง

ที่ผ่านมาเป็นระยะเวลา 39 ปี บ้านพักฉุกเฉินได้ให้การดูแลและช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กมากว่า 53,000 ราย ในจำนวนนั้นมีเด็กมากมายหลายวัยที่มาอยู่ในความคุ้มครองดูแลของบ้านพักฉุกเฉิน  เด็กจำนวนหนึ่งได้กลับสู่ครอบครัวเมื่อครอบครัวพร้อม แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ว่าจะนานเท่าใดครอบครัวก็ไม่เคยพร้อม... เช่น เด็กหญิง “พลอย” ที่ไม่มีวันที่แม่จะพร้อมอีกต่อไปเพราะแม่ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคเอดส์
             
         พลอยเข้ามาอยู่ในความดูแลของบ้านพักฉุกเฉิน ด้วยวัยเพียง 4 ขวบ  ตั้งแต่แม่ของพลอยยังมีชีวิตอยู่  พลอยเป็นเด็กหญิงตัวเล็ก ผิวขาว หน้ากลม ดวงตาบ้องแบ๊วใสซื่อยิ้มแย้มแจ่มใสและช่างพูด ถึงจะพูดรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะพลอยมีพัฒนาการที่ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับเด็ก ๆ ในวัยเดียวกัน      พลอยมาที่บ้านพักฉุกเฉินด้วยปัญหาแม่เลี้ยงดูอย่างไม่มีมาตรฐาน เนื่องจากแม่ เร่ร่อน ป่วยติดเชื้อเอชไอวี มีอาการทางจิต ติดยาเสพติด-และป่วยเป็นวัณโรคปอด

คนที่พาพลอยและแม่มาบ้านพักฉุกเฉิน คือ ยายเลี้ยง ซึ่งเป็นหญิงชราคนหนึ่งที่รับเลี้ยงแม่ของพลอยมาตั้งแต่เล็ก ๆ  ยายเลี้ยงได้เล่าว่า แม่ของพลอยเป็นเด็กกำพร้าจึงได้รับเลี้ยง แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย        ในวัยเด็กแม่ของพลอยเรียนไม่เก่งต้องซ้ำชั้นอยู่หลายครั้งจึงออกจากโรงเรียนทั้งที่ยังอ่าน-เขียนหนังสือไม่ได้ เมื่อย่างเข้าช่วงวัยรุ่นก็หนีออกจากบ้านตามผู้ชายไปหลายปีเมื่อเลิกรากันก็กลับมาอยู่บ้าน ไม่นานก็ได้คบหามีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคนและอาศัยอยู่ที่บ้านแบบไป ๆ มา ๆ เพราะเธอมักออกไปเร่ร่อนไม่เคยอยู่ที่ไหนเป็นหลักแหล่ง บางครั้งก็อาศัยนอนตามสะพานลอยตามป้ายรถประจำทางหรือตามสวนสาธารณะ หารายได้ด้วยการขายบริการทางเพศ จนกระทั่งอายุประมาณ 30 ปี เธอจึงได้ให้กำเนิดพลอย และพาพลอยมาให้ยายเลี้ยงช่วยดูแลโชคดีที่พลอยไม่ติดโรคร้ายจากแม่ ทั้งที่แม่ไม่ได้กินยาต้านไวรัสเอชไอวี ตอนท้อง  ต่อมา 2-3 ปี แม่ของพลอยก็มีอาการทางจิต ยายเลี้ยงจึงได้พาแม่ของพลอยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแต่ก็รักษาไม่ต่อเนื่อง เพราะแม่มักหนีออกมาเร่ร่อน และจะแอบมาพาตัวพลอยออกไปเร่ร่อนด้วย ยายเลี้ยงจึงได้ส่งแม่ไปอยู่สถานสงเคราะห์ของรัฐสำหรับผู้มีปัญหาทางจิต แต่แม่ก็ยังหนีออกมาเร่ร่อนอีก... ยายเลี้ยงจนหนทางจึงได้พาพลอยมาขอความช่วยเหลือที่บ้านพักฉุกเฉิน เพราะเป็นห่วงกลัวว่าพลอยจะต้องใช้ชีวิตร่อนเร่มีชะตาชีวิตเหมือนแม่ไปอีกคน
         
         หลังจากพลอยมาอยู่บ้านพักฉุกเฉิน แม่ก็ยังคงเร่ร่อน อยู่บ้านยายเลี้ยงบ้าง ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้บ้าง แต่ยังคงพยายามมาเยี่ยมพลอยอยู่เรื่อย ๆ หลายครั้งแม่ก็มาพร้อมกับกลิ่นเหล้า บุหรี่ เนื้อตัวที่สกปรกมอมแมม หนักกว่านั้นบางครั้งยังพูดคุยไม่รู้เรื่อง แต่ก็แวะมาหาพลอยอยู่เสมอ  จนช่วงหนึ่งก็ได้เงียบหายไป มาทราบข่าวอีกครั้งแม่ของพลอยก็มีป่วยเป็นโรคเอดส์ระยะสุดท้ายและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ยายเลี้ยงได้พาพลอยไปส่งแม่เป็นครั้งสุดท้าย

              เมื่อพลอยไม่มีผู้ปกครอง และยายเลี้ยงก็ไม่สามารถรับภาระดูแลพลอยได้ตลอดเวลา เพราะท่านก็สูงอายุและมีโรคประจำตัว จึงขอให้บ้านพักฉุกเฉินส่งพลอยเข้าสถานสงเคราะห์ที่ช่วยเรื่องการเรียนพร้อมกับอยู่ใกล้บ้านยายเลี้ยง เพื่อสะดวกในการเดินทางไปเยี่ยมและดูแลพลอยได้เมื่อมีโอกาส เพราะพลอยไม่เหลือใครในชีวิตอีกแล้วนอกจากยายเลี้ยง บ้านพักฉุกเฉินจึงได้ส่งพลอยไปเข้ารับการสงเคราะห์ด้านที่พักและการศึกษาต่อยังองค์กรเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านของยายเลี้ยง ในวันที่ส่งพลอยเข้าสู่สถานที่ใหม่นั้นพลอยอายุได้ 6 ขวบ

           หลังจากนั้นเมื่อติดตามผล ทราบว่าพลอยปรับตัวได้ดีในเวลาไม่ถึงอาทิตย์  ในวันนี้พลอยมีความสุขดีกับสถานที่ใหม่  และยายเลี้ยงก็ยังคงไปมาหาสู่พลอยอยู่เสมอ เมื่อมีโอกาสยายเลี้ยงก็จะมารับพลอยไปค้างที่บ้านบ้างเป็นครั้งคราว...  อย่างไรก็ตามเราก็เชื่อมั่นได้ว่าเราได้วาง พลอย ไว้ ณ สถานที่ ๆ ดี และปลอดภัย และเหมาะสมกับพลอยแล้ว
………………………………………………………………………………………………………………
หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว  ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่  สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1    ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-7 ต่อ 109,113 E-mail: admin@apsw-thailand.org เว็บไซต์สมาคม www.apsw-thailand.org    

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562

โปรดช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น...คุณช่วยได้


โปรดช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น...คุณช่วยได้ ที่ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี นพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ บริจาคผ่านบัญขี สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ธนาคารไทยพาณิชย์  เลขบัญชี 105-217137-4 หรือ โทร. 029292222 หรือ 029292301- 3 *ขอขอบพระคุณ คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) สำหรับการดำเนินการจัดทำคลิปวีดีโอเพื่อประชาสัมพันธ์และระดมทุน ในการดำเนินงานช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก ของโครงการบ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ#บริจาค #จิตอาสา #บำเพ็ญประโยชน์ #เลี้ยงอาหาร #ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กบ้านพักฉุกเฉฺิน #สมาคส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ร่วมบริจาคช่วยเหลือ แม่และเด็ก ให้มีโอกาสได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


ร่วมบริจาคช่วยเหลือ แม่และเด็ก ให้มีโอกาสได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ...ธนาคารทหารไทย (TMB) ชื่อบัญชี สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ (Association for the Promotion of the Status of Women) เลขบัญชี 135-2-00041-6 #บริจาค #ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก #บ้านพักฉุกเฉิน#สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ *ขอขอบพระคุณสำหรับจิตอาสาจัดทำภาพInfo graphic : แพรนซ์-จารุวดี ทองใหญ่ ณ อยุธยา หรือบริจรคผ่านลิงก์โครงการปันบุญ www.tmbfoundation.or.th/th/Punboon/00009


วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2562

บอย เด็กชายผู้เติบโตมาตามยถากรรม





  เรื่อง : ผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉิน
ผู้เขียน : จิตรา นวลละออง


           ปัญหาต่อเนื่องที่คล้องเกี่ยวตามกันมาจากปัญหาท้องไม่พร้อม ในสังคมไทยเรา นอกจากปัญหาการทำแท้งแล้วนั้น ยังมีปัญหาการทอดทิ้งเด็ก หรือเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสม และไม่ได้มาตราฐาน ดังเช่น ชีวิตของ  “น้องบอย”  เด็กชายผิวเข้ม  ตาโต วัย 4 ขวบ ที่เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูอย่างขาด ๆ เกิน ๆ ของแม่ผู้มีปัญหาครอบครัวแตกแยก และท้องไม่พร้อม
         
       แม่ของบอย ชื่อว่า “บี” เธอเป็นคุณแม่ที่มีอายุจริงสวนทางกับวุฒิภาวะ เพราะแม้เธอจะอายุล่วงเลยมาจนใกล้จะ 30 ปีแล้ว แต่เธอยังคงประพฤติตัวเช่นเด็กวัยรุ่นที่หลักลอยคนหนึ่ง  ทั้งไม่ประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและลูก และก็ยังไปฝังตัวอยู่กับร้านเกม ปล่อยทิ้งลูกชายไว้ในบ้านเพียงคนเดียวลำพัง

          ภูมิหลังของบีนั้นเธอเติบโตมาจากครอบครัวที่แตกแยก  ไม่เคยทราบว่าพ่อแท้ ๆ เป็นใคร จนอายุได้ 7 ปี แม่มีครอบครัวใหม่ มีลูกใหม่กับพ่อเลี้ยง และย้ายไปอยู่กับพ่อเลี้ยง โดยทอดทิ้งบีให้เติบโตมาตามลำพัง เมื่อบีถูกปฏิเสธจากแม่และครอบครัวใหม่  เธอจึงกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม หนีเรียน หนีเที่ยวจนเรียนไม่จบ เธอไปรับจ้างทำงานที่ไหนก็ทำได้ไม่นาน เพราะมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน  และต่อมาเธอก็ตั้งท้องโดยที่ไม่รู้ว่าท้องกับใคร ลูกคนแรกญาติจึงรับไปเลี้ยงดูให้  ส่วนตัวบีเมื่อไม่มีหน้าที่รับผิดชอบอะไร เธอก็จะไปเล่นเกมออนไลน์ ที่ร้านอินเตอร์เน็ตเป็นประจำ  และไม่นานก็ตั้งท้อง “บอย” โดยไม่ทราบว่าใครเป็นพ่ออีกครั้ง

         “บอย” เติบโตมาด้วยการดูแลของญาติ ๆ บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้ว บอยจะโตมาตามยถากรรม เพราะน้องบี เลี้ยงดูบอยอย่างปล่อยปละละเลย  เวลาส่วนใหญ่ที่ผ่านไปในแต่ละวันของน้องบีมักจะอยู่ที่ร้านเกม ส่วนบอยนั้น น้องบีจะปล่อยให้นอนอยู่ที่บ้านเพียงลำพังท่ามกลางกองขยะ กองเศษอาหาร อุจจาระและปัสสาวะของบอยเอง มีบางครั้งที่ญาติ ๆ และเพื่อนบ้านเวทนาสงสารบอย จึงแอบเข้ามาดูแล ทั้งเรื่องอาหารการกินและความสะอาด 

       แต่เมื่อน้องบีกลับมาบ้านและทราบเรื่องเธอก็จะตามไปเอาเรื่องกับคนที่เข้าไปยุ่งวุ่นวายกับลูก และบ้านของเธอ จนมีเรื่องให้ทะเลาะวิวาทกัน และในท้ายที่สุดเพื่อตัดความรำคาญ น้องบีจึงนำกุญแจมาล็อคบ้านไม่ให้ใครสามารถเข้าไปในบ้านของเธอได้อีก 

      ซึ่งด้วยความเป็นห่วงในสวัสดิภาพของบอย ทั้งญาติและคนในชุมชนจึงได้นำเรื่องไปแจ้งยังมูลนิธิที่ช่วยเหลือคุ้มครองเด็กแห่งหนึ่ง ให้เข้าไปช่วยเหลือ บอย ออกมาจากความดูแลของน้องบี ดังนั้นบอยจึงได้ถูกส่งตัวมาอยู่ในความดูแลของ บ้านพักฉุกเฉิน

    สภาพแรกรับมาอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินนั้น  บอย  มีสภาพของเด็กที่ เจริญเติบโตไม่สมวัย พัฒนาการล่าช้า ศรีษะโต แขนขาลีบเล็ก กล้ามเนื้อต่างๆไม่แข็งแรง เป็นผลมาจากการขาดสารอาหารและไม่ได้รับประทานอาหารตามเวลา  การสื่อสารบกพร่องไม่สามารถพูดเป็นคำหรือพูดให้คนอื่นเข้าใจตนเองได้  มีปัญหาสมาธิสั้น  เวลาโกรธจะก้าวร้าว  มักจะฝันร้ายและกรีดร้องในยามหลับ
         
     ตลอดเวลาคุณครูที่บ้านเด็ก ของบ้านพักฉุกเฉิน คอยดูแลให้ความรักและเอาใจใส่กับบอย และส่งบอยไปพบกับจิตแพทย์เด็กเพื่อตรวจรักษาและส่งเสริมด้านพัฒนาการเด็กอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันบอย มีร่างกายที่สมบูรณ์มากขึ้น มีอารมณ์ที่ร่าเริงแจ่มใส แม้จะยังมีอารมณ์เหวี่ยงอยู่บ้างเป็นบางครั้ง แต่บอยก็สามารถที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นๆได้มากขึ้น  บอยสามารถบอกชื่อตนเอง และเพื่อนบางคนได้ บอยแปรงฟันและอาบน้ำ ทั้งยังสวมใส่เสื้อผ้าให้กับตนเองได้  และเราหวังว่าต่อไปบอยจะสามารถสื่อสารและบอกถึงความต้องการของตนเองได้


...........................................................................

       หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว  ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่  สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1        ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-7 ต่อ 109,113 E-mail: admin@apsw-thailand.org เว็บไซต์สมาคม www.apsw-thailand.org  


วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2562

คนไม่มีสิทธ์

คนไม่มีสิทธ์

  "พี่หวัดดีค่ะ หนูได้ใส่ฟันใหม่มาแล้วนะ" 

   เสียงทักอันดังอย่างแจ่มใสอย่างที่ไม่มีความพยายามที่จะปกปิดความลิงโลดในใจไว้เลย ทำให้เราต้องหยุดฝีเท้าที่กำลังก้าวเดินเพื่อหันไปหาที่มาของเสียง นั่นก็คือ "ละออ" หญิงวัยผู้ใหญ่ตอนปลายที่เราคุ้นเคยดี ละออกำลังส่งยิ้มโชว์ฟันชุดใหม่ที่ได้รับมาให้ดูแบบที่เรียกว่า ยิ้มจนปากจะฉีกถึงหูกันเลยทีเดียว สำหรับคนหลาย ๆ คนการทำฟันปลอมอาจไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนัก แต่สำหรับคนที่มีชีวิตแต่ไร้ตัวตนอย่างละออนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย 

.... ละออต้องรอน้ำใจจากผู้บริจาคเงิน และการอนุเคราะห์จากทางโรงพยาบาล เธอถึงจะได้อุปกรณ์ในการบดเคี้ยวอาหารชุดใหม่ ...

         "ละออ" เป็นหญิงผิวคล้ำ รูปร่างผอม สูง ดวงตาโตรับกับคิ้วยาวหนา จมูกโด่ง โหนกแก้มสูง ผมสั้นหยักศก ละออพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินมาเกือบ 4 ปีแล้ว ปัญหาเบื้องต้นที่ละออถูกส่งตัวมาอยู่ในความดูแลของบ้านพักฉุกเฉิน คือ เธอติดเชื้อ เอช ไอ วีและพยายามฆ่าตัวตาย แต่เมื่อสืบค้นไปถึงเรื่องอื่น ๆ เราจึงได้ทราบถึงปัญหาใหญ่ที่ละออต้องเผชิญมาตลอดชีวิต นั่นคือ ละออไม่มีเอกสารแสดงตน หรือบัตรประชาชน ละออไม่เคยได้รับการแจ้งเกิด และละออไม่มีพ่อแม่ญาติพี่น้องที่เราจะสามารถติดตามหาได้เลย นั่นส่งผลให้ละออไม่ได้รับสิทธิ์อย่างที่ประชาชนคนไทยควรจะมี ละออแจ้งว่าตนเอง เกิดที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ละออจำความได้เธอก็ได้รับการเลี้ยงดูจากหญิงชราคนหนึ่งนามว่า "ยายจันทร์" ชีวิตของเธอมีความสุขดีเพราะยายจันทร์รักเธอเหมือนลูก แต่ชีวิตก็มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อโตเป็นสาววัย 16 ปี เธอถูกพี่ชายซึ่งเป็นลูกแท้ ๆ ของยายจันทร์พยายามล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยความหวาดกลัวบีบให้ละออต้องหนีออกจากบ้าน และทำงานรับจ้างล้างชามตามร้านข้าวต้มโต้รุ่งเพื่อหารายได้ประทังชีวิต

      จนวัยย่างเข้าเบญจเพศ ละออจึงได้พบกับชายคนหนึ่งเขามีอายุมากกว่าเธอ 6 ปี และเขามาชอบพอเธออยู่นานเป็นเดือนแล้ว จึงชวนเธอไปอยู่ด้วยกัน โดยบอกกับเธอว่า

             "พี่ไม่อยากให้ละออทำงานและมีชีวิตอยู่แบบนี้ ไปอยู่กับพี่เถอะ พี่มีงานให้ทำและมีที่พักด้วย"   

ละออก็คิดว่าอยู่แบบนี้ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเธอจึงยินยอมตามไปอยู่กับเขา ได้ทำงานเป็นแม่ครัวที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งโดยพักอยู่ในที่ทำงานเลย ส่วนผู้ชายที่ชวนละออไปอยู่ด้วยเขาก็ทำงานเป็นพนักงานขับรถอยู่ที่เดียวกัน ละออคบหากับเขาเป็นเวลาเกือบปีจึงตัดสินใจที่จะอยู่กินกับเขาฉันท์สามีภรรยา เพราะในสายตาของลออเขาเป็นคนดี ไม่เที่ยว ไม่สุบบุหรี่ ดื่มเหล้าบ้างเมื่อเวลาเข้าสังคม และเขาก็ขยันขันแข็งดี ต่อมาละออตั้งท้องด้วยความที่ไม่มีบัตรประชาชน ละออไม่เคยไปตรวจหรือฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเลย จนกระทั่งคลอดลูกจึงไปคลอดที่โรงพยาบาล หลังคลอดสามวันก็กลับบ้านลูกก็มีสุขภาพแข็งแรงดี
         
         ชีวิตครอบครัวของละออที่อยู่กับสามีมาเป็นเวลาเกือบ 5 ปี มีความสุขดีไม่เคยมีเรื่องทะเลาะตบตีในครอบครัวเลย… และไม่ได้มีอะไรบ่งบอกให้รู้ล่วงหน้าได้เลยว่า พายุใหญ๋กำลังจะพัดพาสิ่งเลวร้ายเข้ามาในชีวิตเธอ

         ในเช้าวันหนึ่งมีเสียงดัง "โครม!" ดังมาจากด้านหน้าที่พัก ละออจึงรีบวิ่งออกไปดูแล้วจึงพบร่างของสามีนอนหมดสติกองอยู่ตรงนั้น ท่ามกลางข้าวของที่ล้มระเนระนาด

          "พี่ๆเป็นอะไร... พี่ๆ" 

       ละออร้องเรียกสามีพร้อมทั้งจับร่างเขาเขย่า แต่เขาก็ไม่ฟื้น เธอจึงนำเขาส่งโรงพยาบาลทุกอย่างเกิดรวดเร็วเสียเหลือเกิน สามีของละออนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 7 วัน แล้วเขาก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ โดยแพทย์แจ้งว่าวายร้ายที่ชื่อ "วัณโรค" เป็นผู้พรากสามีไปจากเธอ ละออจึงกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในทันที

        ระหว่างที่อยู่ในระยะทำจิตใจให้เข้มแข็งเพื่อพาลูกน้อยต่อสู้กับโลกใบนี้ต่อไป จนกระทั่งลูกน้อยเริ่มพูดอ้อแอ้ "แมะ แมะ" คือคำแรกของลูกที่ส่งเสียงเรียกเธอ มันทำให้ละออยิ้มได้ แต่.... ชีวิตคนเราบางครั้งก็โหดร้ายได้หลาย ๆ ครั้ง ลูกน้อยวัย 2 ขวบของละออเริ่มล้มป่วย กินอะไรก็ไม่ได้ เมื่อพาไปโรงพยาบาลก็ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ การตายของลูกครั้งนี้ หมอบอกว่าเป็นเพราะโรคภูมิแพ้

          "พอลูกตายหนูก็เสียศูนย์ อยู่ที่เดิมก็รู้สึกแย่ อยู่ไม่ได้แล้ว... มันไม่เหลืออะไรในชีวิตเลย" 

       หลังจากนั้นละออก็ออกเร่ร่อนจนมีคนสงสารจึงให้ที่พักกับละออโดยให้เธอทำงานรับซื้อของเก่า แต่โรคร้ายในร่างกายของละออก็ไม่ปล่อยให้ละออได้ใช้ชีวิตอย่างปกติได้นาน ละออเริ่มมีอาการป่วยกระเสาะกระแสะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง จึงไปหาหมอ หมอได้นัดตรวจเสมหะ 3 วัน และเจาะเลือด 2 ครั้ง ผลการตรวจเสมหะพบว่า ละออเป็นวัณโรค ซึ่งถ้ากินยาควบคุมตามหมอสั่งเดี๋ยวเธอก็หาย แต่หลังจากเจาะเลือดครั้งสุดท้าย หมอได้เรียกละออไปคุยและถามคำถามแปลก ๆ กับละออว่า

          "สบายใจขึ้นหรือยัง... ถ้าหมอจะบอกอะไรบางอย่างจะรับได้ไหม"
         "หนูทำใจรับได้ค่ะ" 

       ละออตอบออกไปอย่างที่ไม่ค่อยเข้าใจในท่าทางที่ดูลำบากใจของหมอเท่าใดนัก และเธอก็คิดว่าเธอผ่านเรื่องร้าย ๆ มาเยอะแยะแล้ว มันคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้

          "เจอเชื้อ เอช ไอ วี เอดส์ ติดมานานแล้วนะแต่เพิ่งออกอาการ"

       เมื่อประโยคนี้หลุดออกมาจากปากของคุณหมอ ละออรู้ได้ทันที่ว่าที่เธอบอกหมอไปก่อนหน้านี้ว่าเธอรับได้นั้นเธอโกหก... จริง ๆ แล้วเธอรับไม่ได้... 

         ละออจึงตัดสินใจไปกระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แต่ก็ไม่สำเร็จหน่วยกู้ภัยมาช่วยไว้ขณะที่ยืนอยู่บนขอบสะพานเสียก่อน แล้วเขาก็นำตัวละออส่งที่สถานีตำรวจ หลังจากตำรวจปล่อยให้กลับบ้าน ละออก็ยังมีความพยายามที่จะกำจัดตัวเองออกจากโลกใบนี้อีกถึงสองครั้ง 

        ครั้งที่สอง เป็นช่วงกลางวันผู้คนพลุกพล่านเกินไปเธอเกรงว่าจะมีคนเห็น และแจ้งหน่วยกู้ภัยมาช่วยไว้ได้อีก 

     ครั้งที่สาม ก็เกิดขึ้นต่อจากครั้งที่สอง พอละออกลับมาที่พัก รอเวลาสักเที่ยงคืนผู้คนน่าจะนอนกันหมดแล้ว เธอก็กลับไปที่สะพานนั้นอีกครั้ง... 

    ในครั้งนี้ละออเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี ก่อนไปละออได้กินยาแก้แพ้ไปประมาณ 20 เม็ดเพื่อช่วยให้ง่วงแล้วหลับไปเลย ไม่ทรมาน เธอเล่าวินาทีชีวิตที่โดดลงไปจากสะพานว่า 

"โดดลงไปแล้ว ไม่มีความกลัวแล้ว รู้สึกตัวหมุนคว้างแล้วสักพักก็รู้สึกคล้ายมีมือมารองรับแล้วดึงลงไปใต้น้ำก่อนที่จะผลักขึ้นด้านบนอย่างแรงแล้วก็มีห่วงมาลากตัวขึ้นเรือ" 

     หลังจากนั้นละออก็หมดสติไป และมาฟื้นขึ้นอีกครั้ง ก็พบว่าตนเองอยู่ที่โรงพยาบาล พอรู้สึกตัวก็บอกกับตัวเองว่า ...

"เออ... ยังไม่ตาย... แล้วก็หลับไปอีก" 

    เมื่อความพยามที่จะตายของละออประสบกับความล้มเหลว ดังนั้นชีวิตของละออจึงต้องดำเนินต่อไป เธอแจ้งกับนักสังคมสงเคราะห์ที่โรงพยาบาลว่า เธอไม่มีญาติและไม่มีบ้านให้กลับ เขาจึงส่งละออไปพักฟื้นยังสถานสงเคราะห์สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ เอช ไอ วี ที่มีอาการหนัก จนผ่านไป 2-3 สัปดาห์ ละออมีอาการดีขึ้นสามารถเดิน และทำกิจวัตรประจำวันได้เอง ทางโรงพยาบาลจึงไปรับและพาละออมาส่งที่บ้านพักฉุกเฉิน

          "ถ้าหนูไม่ได้มาอยู่บ้านพักฉุกเฉินหนูก็จะต้องไปตายอีกให้ได้ เพราะถ้าไม่ตายหนูจะอยู่ยังไง… ที่บอกหมอว่ารับได้น่ะจริงๆ แล้วโกหกหมอด้วยความอยากรู้ พอรู้จริงๆ ว่าเป็นโรคนี้ก็รับไม่ได้... พี่คิดดูนะหนูไม่มีเอกสาร บัตรประชาชนก็ไม่มี แค่โรคธรรมดาหนูยังไม่มีปัญญา นี่เป็นตั้งโรคนี้มันต้องไปหาหมอตลอด แล้วหนูจะอยู่ยังไง ตอนที่เป็นวัณโรคเงินค่ารถไปรับยาหนูยังไม่มีเลยต้องเดินไป แถมหมอสงสารยังให้เงินค่ารถเวลาไปรับยาอีกเพราะหมอกลัวหนูขาดยา... แฟนกับลูกหนูก็ตายไปแล้วหนูก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม... สิทธิ์อะไรอย่างที่คนอื่นเขามีกันหนูก็ไม่มี... บางทีหนูก็คิดอย่างขำๆ นะว่าขนาดจะตายยังไม่มีสิทธิ์เลย..." 

           ปัจจุบันละออได้ออกไปทำงานรับจ้างภายนอกและสามารถดำเนิชีวิตในสังคมภายนอกได้ โดยที่ละออยังอยู่ในความดูแลและคุ้มครองจากบ้านพักฉุกเฉิน 
...................................................................................................................................................................

       หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1 ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. อีเมลล์: knitnaree@hotmail.com 

   ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉิน สามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-3 ต่อ 109,113 หรือ 0 2 929 2308 อีเมลล์: admin@apsw-thailand.org
x

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

โลกของดวงดาว


โลกของดวงดาว
Based on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
เจ้าของเรื่อง: ผู้หญิงที่พักพิงอยู่ในบ้านพักฉุกเฉิน
ผู้เขียน: จิตรา นวลละออง

ในโลกนี้ยังมีผู้หญิงบางคนที่ไม่เคยรู้จักคำว่า “โลกภายนอก” อย่างแท้จริงเลย เพราะชีวิตของเธอถูกครอบไว้ในโลกใบเล็ก ๆ ที่คนที่มีอำนาจหรือคนที่มีอิทธิพลในชีวิตเธอเป็นผู้กำหนด  การที่เธอจะได้รับรู้โลกภายนอกนั้นขึ้นอยู่กับผู้อื่นกำหนดแทบทั้งสิ้น ดังนั้นชีวิตของเธอ จึงต้องพึ่งพิงผู้อื่นหรือมีผู้นำทางอยู่เสมอ และหากมีเหตุหรือจุดเปลี่ยนให้เธอต้องใช้ชีวิตตามลำพังเธอจะทำอย่างไร?
“ดวงดาว” หญิงร่างเล็ก ผิวคล้ำ ถูกส่งมาขอรับความช่วยเหลือที่บ้านพักฉุกเฉินด้วยปัญหาท้อง 8 เดือน สามีทอดทิ้งไปมีภรรยาใหม่ ดวงดาวอายุ 22 ปี การตั้งครรภ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งดวงดาวก็บอกไม่ได้ว่าเธอพร้อมหรือไม่พร้อม เพราะผู้ที่กำหนดว่าจะพร้อมหรือไม่ ก็คือ สามี ผู้เป็นผู้นำในชีวิตของเธอ
              หากดูจากรูปกายภายนอกของดวงดาว  หลาย ๆ คนคงจะคิดว่าเธอน่าจะมีอายุที่มากกว่าอายุจริงของเธอหลายปี   แต่หากได้คุยกับเธอก็จะได้พบอีกว่า เธอมีปัญหาด้านการสื่อสาร ด้วยปัญหาดังกล่าว เราจึงไม่สามารถพูดคุยกับดวงดาวเพียงลำพังได้ เราต้องใช้เพื่อนสมาชิกคนท้องที่พักและใช้ชีวิตคลุกคลีกับดวงดาวมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับเธอ เมื่อสอบถามถึงครอบครัวญาติพี่น้องและพ่อแม่ของดวงดาว เธอตอบเราสั้น ๆ ว่า "ไม่มี" ซึ่งเพื่อนของดวงดาวขยายความให้ได้เข้าใจว่า
"พ่อแม่ของดวงดาวตายตั้งแต่ดวงดาวยังเล็ก ๆ... เขาก็เลยไม่มีพ่อไม่มีแม่ มีแต่คนเก็บมาเลี้ยง"
และดวงดาวก็เล่าต่ออีกว่า
"เขาเอามาเลี้ยงให้เฝ้าสวน"
เมื่อสอบถามเรื่องการเรียนดวงดาวตอบว่า เธอไม่เคยเรียนหนังสือเลย อ่านและเขียนหนังสือก็ไม่ได้ และที่น่าเวทนาอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ดวงดาวไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน เธอต้องใช้บัตรของผู้ไร้สัญชาติ เพราะอะไรกัน? ก็เพราะไม่มีการแจ้งเกิดให้กับดวงดาว  เธอจึงเป็นบุคคลที่ตกสำรวจ  แม้สิทธิที่จะได้เป็นคนไทยอย่างที่ควรจะพึงมี ดวงดาวก็ไม่มีสิทธิ์
ตลอดระยะเวลาที่ดวงดาวเติบโตมากับครอบครัวที่รับเลี้ยงเธอ ดวงดาวต้องทำงานในสวน กินนอนอยู่กระท่อมในสวน และไม่ค่อยได้พบหรือมีปฏิสัมพันธ์กับใคร ๆ มากนัก  จนกระทั่งดวงดาวอายุได้ประมาณ 12-13 ปี ลูกชายของคนที่รับเลี้ยงเธอก็พาเธอหนีเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ มาอยู่บ้านของญาติ และเขาก็เก็บดวงดาวไว้เป็นทั้งคนงานและเป็นเมียในบ้านหลังนั้น  ดวงดาวไม่เคยได้ออกไปไหนเลย  แม้ว่าจะอยู่กรุงเทพฯ หลายปี แต่ดวงดาวก็ไม่รู้จักถนนหนทางที่นี่เลย  ชีวิตของดวงดาวมีแต่ทำงาน  ท้อง  และเลี้ยงลูก  ดวงดาวเป็นผู้หญิงประเภทช้างเท้าหลังอย่างเต็มตัว เพราะเธอไม่เถียง ไม่เรียกร้อง ไม่มีปากเสียงกับใครเลย ชีวิตครอบครัวของดวงดาวน่าจะมีความสุข แต่ใครจะสามารถรับประกันได้ว่าผู้หญิงที่ว่านอนสอนง่ายและขยันทำงานอย่างดวงดาวจะไม่ต้องมาพบกับปัญหาสามีไปมีผู้หญิงอื่น หรือที่เรามักเรียกกันว่า มีเมียน้อย แต่ดวงดาวไม่ได้เรียกผู้หญิงคนนั้นว่าเมียน้อยแต่เธอเรียกเขาว่า "เมียของเขา" แล้วดวงดาวอยู่ในสถานะอะไรกัน?...
สามีของดวงดาวพาผู้หญิงอื่นเข้ามาอยู่ที่บ้านเป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง ตั้งแต่ดวงดาวยังไม่ท้องลูกคนนี้ด้วยซ้ำ ซึ่งช้างเท้าหลังอย่างดวงดาวจะมีสิทธิ์ไปห้ามปรามอะไรได้ ดวงดาวก็ยังคงอยู่ในโลกใบเดิมของเธอโดยไม่ได้เฉลียวใจใด ๆ และเมื่อดวงดาวท้องและท้องใหญ่มากขึ้นจนทำงานไม่ค่อยได้  เมียของเขาก็แสดงปฏิกิริยาเหมือนว่า  ดวงดาวเป็นส่วนเกินของครอบครัวมากขึ้น ๆ ทุกที จนสุดท้ายได้จัดการให้เพื่อนของตนนำดวงดาวใส่รถและขับพามาส่งที่บ้านพักฉุกเฉินทั้ง ๆ ที่ดวงดาวท้องได้ประมาณ 8 เดือน ดวงดาวก็เหมือนแค่สิ่งของที่มีลมหายใจ
ย้อนไปเมื่อครั้งหนึ่งที่เธอเพิ่งจะย่างเข้าสู่วัยรุ่นเธอก็ถูกชายหนุ่มคนหนึ่งพาตัวมาอยู่กินฉันท์สามีภรรยา... และในวันนี้ดวงดาวก็ถูกพามาส่งที่สถานที่หนึ่งที่ชื่อว่า “บ้านพักฉุกเฉิน”  ดวงดาวก็ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่ามาทำไมและมาเพื่ออะไร กว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ดวงดาวก็ไม่สามารถทำอะไรได้ หรือแม้จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ดวงดาวจะทำอะไรได้
 ทุกวันนี้สิ่งที่ดวงดาวทำได้ก็คือยอมรับและปรับตัวกับผู้คนและสถานที่ใหม่ นั่นคือบ้านพักฉุกเฉินซึ่งก็ไม่ได้ยากเย็นนักสำหรับคนที่ทั้งขยันและอดทนอย่างดวงดาว แต่สิ่งที่ค่อนข้างเป็นปัญหาสำหรับดวงดาวคือการสื่อสาร เธอดูเขินอายไม่กล้าพูดกับคนอื่น เพราะเธอกลัวว่าคนอื่นจะฟังเธอไม่รู้เรื่อง ในช่วงเวลาที่เราได้พูดคุยกัน ดวงดาวดูจะมีความสุขมาก ถ้าเราฟังเธอเข้าใจโดยไม่ต้องผ่านล่าม  ซึ่งเราเองก็ดีใจมากเช่นกันที่คุยกับเธอเข้าใจโดยใช้ล่ามให้น้อยที่สุดเมื่อถามว่า...แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ดวงดาวก็ทำหน้า งง ๆ จึงตั้งคำถามใหม่ว่า... "ถ้าคลอดลูกแล้วจะทำอย่างไร?"...ดวงดาวตอบว่า "ไม่รู้...แล้วแต่เขา" คำว่า เขา นั่นก็หมายถึง สามีของดวงดาว นั่นเอง...
เรื่องราวที่ได้จาก "ดวงดาว" ทำให้คิดได้ว่า... ในโลกที่ดวงดาวอยู่นั้นเธอเป็นเพียงผู้อาศัย... ดวงดาวไม่สามารถเลือก คิด หรือตัดสินอะไรได้เองถ้าไร้ผู้นำทาง... ตั้งแต่เล็กดวงดาวไม่มีพ่อแม่ที่คอยปกป้อง เธอจึงต้องพึ่งพิงคนอื่น และต้องทำตามความต้องการของผู้อื่นมาโดยตลอด จนดวงดาวมีบุคลิกภาพแบบสมยอม... ไม่ว่าเจ้าของโลกใบที่ดวงดาวอาศัยอยู่คิดจะลากจูงดวงดาวไปทางไหนก็ได้แล้วแต่เขา...……………………………………………………………………………………………………..
หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืนหรือติดเชื้อเอชไอวี   สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯบ้านพักฉุกเฉิน 501/1ซ.เดชะตุงคะ1ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. อีเมลล์: knitnaree@hotmail.com  และ ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และหาทุน โทร. 0 2929 2301-3 ต่อ 109,113 หรือ 0 2 929 2308 อีเมลล์: admin@apsw-thailand.org เฟสบุ๊ค: สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯบ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง www.facebook.com/apswthailand.org หรือ สามารถดูข้อมูลรายละเอียดผ่านทางเว็บไซด์สมาคม www.apsw-thailand.org

ชีวิตใหม่

  ชีวิตใหม่ Based on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เรื่อง : ผู้หญิงในบ้านพักฉุกเฉิน , ผู้เขียน : จิตรา นวลละออง...