วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ชีวิตที่ดิ้นรนของปราณี

 

ชีวิตที่ดิ้นรนของปราณี

Base on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ

“เคยถามตัวเองว่าชาติที่แล้ว หนูทำกรรมอะไรไว้นะชาตินี้เกิดมาพ่อแม่ก็ไม่รัก ร่างกายก็พิการ มีแฟนก็หวังพึ่งพาฝากผีฝากไข้แต่ก็ไม่ได้เลย จนมาคิดได้ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่หนูเป็นอย่างนี้ก็ไม่เคยคิดไปเหลวไหลติดยาอะไรนะ ไม่ชอบ เคยมีคนชวนเสพยาบอกว่าจะได้ผอม เลยบอกเขาไปว่า  ...กูยอมอ้วนอย่างนี้น่ะดีแล้ว เสพยาแล้วเงินก็ไม่มีเหลือ”

ประโยคที่ทั้งตัดพ้อต่อชะตาชีวิตของตนเองทั้งแฝงด้วยอารมร์ขัน ได้หลุดออกมาจากปากของ สาวใหญ่ร่างท้วม ผิวสองสี วัย 30 กว่าปี ที่ชื่อว่า “ปราณี”

ปราณี มีความพิการทางร่างกาย ขาของปราณีไม่เท่ากันทำให้การเดินเหินของเธอดูไม่คล่องตัวนัก ความพิการนี้ติดตัวปราณีมาแต่กำเนิด ซึ่งตากับยายที่เลี้ยงดูปราณีมาบอกเล่าว่าน่าจะมาจากการที่แม่ของปราณีพยามทำแท้งด้วยการกินยาขับเลือดแต่ไม่สำเร็จ ความพิการทางกายของปราณีนอกจากจะเป็นหลักฐานที่แสดงถึงปมด้อยทางกายของเธอแล้ว ยังเป็นหลักฐานของปมด้อยภายในใจของปราณีอีกด้วยว่าเธอไม่ได้เกิดมาด้วยความรัก

ตั้งแต่ปราณีจำความได้เธอไม่เคยได้รู้ว่าพ่อที่แท้จริงของตนเองเป็นใครมีหน้าตาอย่างไร เธอรู้แต่เพียงว่า แม่มักจะเปลี่ยนแฟนใหม่ไปเรื่อย ๆ ในวัยเด็กแม่ไม่ได้ดูแลปราณีเลย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีที่ปราณีถูกเลี้ยงดูโดยตาและยาย แม้ท่านทั้งสองจะมีฐานะยากจนส่งเสียให้ปราณีเรียนได้แค่ชั้นป.6 แต่วัยเด็กของเธอเธอก็มีความสุขดี หลังจากเรียนจบปราณีออกมาทำงานรับจ้างเย็บผ้า และพยายามเรียนกศน.ด้วยตนเองจนอายุ19 ปี เธอจึงเรียนจบชั้นม.3

หลังจากเรียนจบปราณีก็ยังคงทำงานรับจ้างเย็บผ้าโหลที่เดิมเรื่อยมาอีกหลายปี จนได้พบรักกับ “นายเอ” ซึ่งทำงานเป็นรปภ.อยู่ที่โรงงานเดียวกัน ทั้งคู่คบหาเป็นแฟนกันได้ราว ๆ หนึ่งปี ปราณีเห็นว่านายเอเป็นคนนิสัยดีมีความรับผิดชอบ จึงตกลงอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน หลังจากที่อยู่ด้วยกันไม่นานนายเอก็เปลี่ยนแปลงไปมีพฤติกรรมไม่ค่อยกลับบ้านและมักจะบอกว่าต้องอยู่ยามควงเวร จนปราณีท้องลูกคนแรกได้ประมาณ 5 เดือน ปราณีได้รับโทรศัพท์จากผู้หญิงคนหนึ่งโทรมาติดต่อสามีของตนเองว่า

“ฮัลโหล...ขอสายเอค่ะ” เสียงสาวนิรนามเอ่ยขึ้นเมื่อปราณีรับสายโทรศัพท์

“ตอนนี้เอไม่อยู่ค่ะ ใครโทรมาเนี่ยคะ?” ปราณีตอบกลับไปพร้อมกับเริ่มมีความระแวงสงสัย

 “บอกเขาว่าเมียของเขาโทรมาให้โทรกลับด้วย” สาวนิรนามบอกกล่าวระบุตัวตนของตนเองจนปราณีแทบทำโทรศัพท์ร่วงหลุดจากมือ ภายในใจของปราณีกลับคิดว่าถ้าผู้หญิงคนนี้เป็นเมียนายเอแล้วตนเองล่ะเป็นอะไรปราณีจึงกลั้นใจถามกลับไปว่า “แล้วคุณเจอกับเขาได้ยังไง?”

“เขามาทำงานอยู่ยามที่หมู่บ้านที่ฉันอยู่เนี่ย เอเขาก็มาอยู่กับฉันตลอดแหล่ะ ... บอกเขาให้โทรกลับหาเมียเขาด้วยล่ะ แค่นี้นะ” สาวนิรนามย้ำตำแหน่งของตนเองให้ปราณีฟังอีกครั้ง ก่อนที่จะวางสายไป     ปราณีวางโทรศัพท์ลงอย่างงงงวย

            เมื่อปราณีนำปัญหาไปปรึกษาแม่ แม่บอกให้ปราณีเลิกกับนายเอทันที และยังบอกอีกว่าหลานคนเดียวแม่เลี้ยงได้ นั่นจึงเป็นจุดแตกหักของการมีครอบครัวครั้งแรกของปราณี เธอตัดสินใจย้ายมาอยู่กับแม่และพ่อเลี้ยงตั้งแต่ยังท้อง โดยที่นายเอไม่ได้ติดต่อหรือมีส่วนรับผิดชอบค่าเลี้ยงดูใด ๆ เลย แต่หลังจากย้ายมาอยู่กับแม่เธอก็ต้องมาพบกับปัญหาใหม่คือ พ่อเลี้ยงมักจะลวนลามล่วงเกินหาเศษหาเลยกับเธออยู่เสมอ แม้เธอจะมีลูกอ่อนก็ตาม จนครั้งหนึ่งถึงกับเป็นคดีความเมื่อพ่อเลี้ยงเมาและคิดจะปลุกปล้ำปราณี แต่มีคนเข้ามาช่วยเธอไว้ได้ จึงได้เกิดการแจ้งความกันขึ้น แต่แม่ก็ยังคงอ้อนวอนให้ปราณียอมความ โดยให้เหตุผลว่า “มันอยู่กับกูมันก็ดูแลกูเวลากูเจ็บป่วย” ปราณีจึงเห็นแก่แม่ไม่เอาเรื่องพ่อเลี้ยง เมื่อทั้งสามคนกลับมาอยู่ด้วยกันพ่อเลี้ยงก็ยังไม่เลิกพฤติกรรมเดิม ๆ ปราณีทนไม่ไหว เธอหวาดกลัวว่าตัวเองจะพลาดท่าเสียทีต่อพ่อเลี้ยงเข้าวันไหนสักวัน จึงบอกเรื่องนี้กับแม่อีกครั้งแต่แม่ของเธอกลับบอกว่า

“มึงอย่าบอกใครนะ กูอายคนอื่นเขา  ... จะให้กูทำยังไงล่ะ... นั่นก็ลูกนี่ก็ผัว”

“งั้นหนูจะเป็นฝ่ายไปเอง” ปราณีตัดปัญหาด้วยการเอาตัวเองออกมาจากครอบครัวของแม่ โดยที่ยกลูกชายให้อยู่ในความดูแลของแม่ เพราะตัวเธอเองไม่มั่นใจในอนาคตของตัวเองเลยถ้าเอาลูกออกมาก็คงพากันออกมาอดตาย

เมื่อปราณีออกมาใช้ชีวิตคนเดียว เธอจึงพยายามหางานแต่ก็สมัครงานอะไรไม่ได้ เธอจึงเอาเงินเก็บไปลงทุนขายเสื้อผ้าตามตลาดนัดซึ่งก็พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้ผ่านไปได้ ปราณีใช้ชีวิตดิ้นรนเพียงลำพังได้ไม่นานก็ตัดสินใจอยู่กินกับ “นายเติม” ที่มีอาชีพรับจ้างเข็นของในตลาด นายเติมเป็นคนพิการหูตึงทำให้ปราณีคิดว่าคนพิการด้วยกันคงจะเห็นใจกัน แต่ก็ไม่เป็นอย่างหวัง เพราะแม้นายเติมจะพอมีเงินให้ใช้ แต่ก็หาเรื่องทะเลาะตบตีอยู่ตลอด เธอบอกว่า

“โอ้ย!... ไม่ไหวอยู่ด้วยกัน 6 เดือน ดีอยู่ได้ 3 เดือนแรก พอ 3 เดือนหลัง ตีกันทุกวัน เลยหนีไปบวชตอนไปบวชตายังเขียวคางยังโย้อยู่เลย เจ้าอาวาสที่บวชให้ยังมองแบบงงๆ เลยบอกหลวงพ่อว่าบวชให้หนูหน่อยเถอะหนูทุกข์มามากแล้ว บวชแล้วก็กรวดน้ำคว่ำขันกันไปอย่าได้เจอะได้เจอกันอีกเลยคนแบบนี้ บวชอยู่เป็นเดือนถึงได้หลุดมาจากมัน”

เมื่อสึกจากบวชชี ปราณีก็กลับมาขายของได้ประมาณ 2 ปี เธอก็ได้พบกับ “นายวี” ที่มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง เขามีอายุมากกว่าเธอสิบปี ด้วยความที่ นายวี มีความเป็นผู้ใหญ่และนิสัยดี ปราณีจึงปลงใจที่จะเริ่มมีชีวิตครอบครัวอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้นายวีก็ไม่ได้ทำให้ปราณีผิดหวังแต่อย่างใด เขาเป็นสามีที่ดี มาโดยตลอดระยะเวลา 8 ปี “หนูยังโชคดีที่ได้เจอคนดี แต่คนที่ดีมักจะอยู่กับเราไม่นาน” ปราณีหัวเราะขื่น ๆ ให้กับชะตาชีวิตของตนเอง เพราะ ในช่วงที่คลอดลูกได้ไม่ถึง 2 เดือน สามีที่ดีที่สุดของเธอก็มาตายจากไปด้วยอุบัติเหตุไฟฟ้าช็อต

“ชีวิตพลิกผันไม่คิดว่าเขาจะไปเร็วขนาดนั้นตอนตีห้าก่อนไปทำงานเขายังยื่นเงินให้เป็นค่านมลูก พอ10 โมงมีคนมาบอกว่าพี่เขาเสียชีวิตแล้ว รู้สึกเสียใจ จะทำยังไงกับชีวิต มันมืดไปหมด ชีวิตมันล้มทำอะไรไม่ถูก”

หลังจากสูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป แม้ด้วยทรัพย์สินของสามีจะช่วยให้ปราณีและลูกไม่ลำบากในช่วงแรก แต่เงินทองก็ร่อยหลอไปกับการทำศพสามี อีกทั้งเธอที่มีลูกอ่อนก็ไม่ได้ทำงานอะไรชีวิตมีแต่รายจ่าย ปราณีจึงนำลูกไปฝากให้ญาติสามีดูแลส่วนเธอก็ต้องออกตระเวนหางานทำ แต่ด้วยสภาพร่างกายที่พิการของเธอทำให้ไม่มีใครรับเธอเข้าทำงาน เมื่อกลับไปขายของตลาดนัดก็ได้รายได้ไม่พอยาไส้ และยังไม่พอส่งให้ลูก เมื่อเงินที่ติดก้นกระเป๋าเหลืออยู่เพียง 20 บาท ปราณีจึงต้องตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อลูกและเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ด้วยการประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ ครั้งแรกเธอได้รายได้ 2,000 บาท และครั้งต่อ ๆ มารายได้ขั้นต่ำของเธออยู่ที่ 500 บาท แม้ปราณีจะประกอบอาชีพที่ใครหลาย ๆ คนในสังคมดูถูกและรังเกียจ แต่เธอก็ไม่ละเลยในการรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคม ปราณีให้แขกใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง อีกทั้งเธอยังไปตรวจเลือดทุก ๆ 3 เดือน

ชีวิตของปราณีอาจจะแย่ลงหรือดีขึ้นต่อจากนี้เราก็ไม่อาจรู้ได้ถ้าหากเมื่อปีที่แล้วเธอจะไม่พบกับ “นายสนอง” ชายผู้มีอายุมากกว่าเธอร่วม 10 ปี เขามีอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในช่วงแรกที่เขาเข้ามาในชีวิตของเธอเขาก็รู้ดีว่าเธอประกอบอาชีพอะไร แต่เขาก็มีความเห็นใจช่วยเหลือเกื้อกูลเรื่องเงินทองกับปราณีอยู่เสมอ จนปราณีใจอ่อนและตกลงอยู่กินด้วยกัน ปราณีบอกว่ากับนายสนองเมื่ออยู่กันแบบผัวเมียแล้วเธอจึงไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ไม่นานปราณีก็ตั้งท้องลูกคนเล็ก เมื่อไปตรวจและฝากครรภ์หมอบอกว่า ผลเลือดของปราณีมีปัญหา เธอมีเลือดบวก ซึ่งบ่งบอกว่าเธอติดเชื้อ เอช ไอ วี ปราณีคิดว่าเธอคงติดโรคมาจากนายสนองอย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้าจะอยู่ด้วยกันผลเลือดเธอยังปกติดี

 “หนูก็มาบอกกับพี่สนองเขานะ ว่าให้ไปตรวจเลือดเขาก็ไม่ไป พอบอกว่าถ้าเป็นเอดส์ล่ะ เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร ก็ตายด้วยกัน ตอนที่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้ก็หดหู่นะแต่ก็เอาวะคนเรายังไงมันก็ต้องตายทุกคน คนอื่นเป็นเอชไอวี แล้วยังเป็นวัณโรคด้วย งั้นเราก็ยังดีนะเราเป็นแค่โรคเดียว”

ปราณีเล่าว่าชีวิตครอบครัวของเธอกับนายสนองก็ปกติสุขดี เขาดูแลดี รับผิดชอบดีทุกอย่าง แต่พอวันที่จะคลอดลูกเขาก็หายไป “เขาบอกว่า เขาจะไปขับวินหาเงินมาส่งค่ารถ แล้วเขาก็เอาเงินไปด้วยสองพัน หนูให้เขาไปจ่ายค่าเช่าห้อง แล้วเขาก็หายไปเลย ค่าเช่าห้องก็ไม่ได้จ่าย ตกกลางคืนหนูก็ปวดท้องคลอดก็ไปผ่าท้องคลอดลูกอยู่ที่โรงพยาบาล อยู่เป็นผู้ป่วยอนาถา นอนอยู่ 7-8 วัน ไม่มีผัวมาดูมาเยี่ยมเหมือนคนอื่นเขาเลย เงินที่หนูให้เขาไปก็ไปกู้นอกระบบมา เจ็ดพัน ส่งไปให้คนที่เลี้ยงลูกคนรองห้าพัน ให้เขาสองพัน นี่หนูยังต้องไปหาเงินใช้หนี้นอกระบบอีก ไม่รู้ว่าดอกจะเท่าไรไปแล้ว... ”

เมื่อนายสนองผู้เป็นสามีขาดการติดต่อ ห้องเช่าที่ไม่ได้จ่ายค่าเช่า ลูกที่เพิ่งผ่าคลอด ร่างกายที่ยังไม่แข็งแรง ทำให้ปราณีต้องขอความช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์ที่โรงพยาบาล เขาจึงให้คำแนะนำและส่งตัวเธอกับลูกน้อยมาพักฟื้นที่บ้านพักฉุกเฉิน เธอบอกกับเราว่า ทีแรกก่อนที่จะมาอยู่เธอมีความเครียดและกลัว แต่พอได้อยู่ที่นี่ก็มีความสุขดี ไม่มีคนรังเกียจในโรคที่เป็น แถมยังมีเจ้าหน้าที่ช่วยดูแล ปราณีวางแผนในอนาคตไว้ว่าเมื่อเธอแข็งแรงแผลผ่าคลอดหายดีแล้ว เธอจะฝากลูกไว้กับบ้านพักฉุกเฉิน

ถ้าหนูดีขึ้นจนออกจากบ้านพักจะไปตามหาเขาที่วิน ตอนนี้ก็ยังคาใจว่าเขาหายไปไหน จริง ๆ ถ้าจะทิ้งเราก็ควรจะบอกเราสักคำ แต่หนูก็เผื่อใจไว้แล้วหากชีวิตนี้จะไม่เจอเขา เสียใจแต่ก็พยายามทำใจ ไม่มีเขาเราก็ต้องอยู่ดูแลลูกต่อไปให้ได้”

เมื่อเราถามถึงวันข้างหน้าว่าเธอจะกลับไปประกอบอาชีพเช่นเดิมหรือไม่ปราณีก็นั่งครุ่นคิดกับตัวเองสักพักและเอ่ยกับเราว่า

“อนาคตต่อไปก็ยังไม่รู้เหมือนกันค่ะ อาชีพนั้นหนูก็ไม่ได้อยากทำถ้ามีทางเลือก ...ก็อาจจะหางาน ขายของตลาดนัด แต่ว่าหนูหางานยากพิการ ไม่เหมือนคนปกติ

นี่เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งจากผู้หญิงที่เติบโตมาจากครอบครัวที่แตกแยก ชีวิตของเธอต้องดิ้นรนทั้งปากกัดตีนถีบ หามื้อกินมื้อ สุขสบายในช่วงสั้น ๆ ของชีวิต การประกอบอาชีพของเธอก็คงไม่มีใครสามารถไปตัดสินความผิดถูกได้เพราะมันคือทางเลือกแคบ ๆ ทางเดียวในขณะนั้น แต่เธอก็ยังยิ้มแย้มและมองโลกในแง่ดีอย่างที่ไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิตด้วยเธอมีแนวคิดว่า  ชีวิตหนูพลิกแบบหน้ามือเป็นหลังมือคลออดลูกคนที่2นอนโรงพยาบาลเอกชนห้องพิเศษมีผัวมาเฝ้าดูแลตลอด พอคลอดลูกคนนี้นอนเป็นคนไร้ญาติอยู่ห้องรวมเลย ก็คิดท้อแท้เหมือนกันนะ แต่ไม่ได้ท้อจนคิดฆ่าตัวตาย ”

 ทิ้งท้ายการพูดคุยปราณีได้ฝากบอกกับเราไปถึงคนในสังคมอย่างหวังดีว่า หญิงขายบริการทางเพศหลากหลายคนหลากหลายสถานที่ต่างก็แตกต่างกันหลายประเภท เธอเคยพบหญิงขายบริการทางเพศคนหนึ่งที่ติดเชื้อ เอช ไอ วี แต่ไม่ได้ให้แขกใช้ถุงยางอนามัย เมื่อปราณีแนะนำให้ใช้เธอคนนั้นกลับบอกว่า “จะสนใจทำไมยังไงก็เป็นอยู่แล้ว ยังไงก็ตายอยู่ดี” ซึ่งปราณียังบอกกับเราอย่างติดตลกอีกว่า “หนูจำหน้าแขกของเขาไว้ทุกคนเลยใครที่เขาไปด้วย หนูจะไม่ไปด้วยเลย”

........................................................................................................................................................................................

หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่                                                                                             สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1 ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. อีเมลล์: knitnaree@hotmail.com และ ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน          โทร. 0 2929 2301-3 ต่อ 109,113 หรือ 0 2 929 2308 

อีเมลล์: admin@apsw-thailand.org   Facebook: สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯบ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง www.facebook.com/apswthailand.org หรือ สามารถดูข้อมูลรายละเอียดผ่านทางเว็บไซด์สมาคม www.apsw-thailand.org



ชีวิตใหม่

  ชีวิตใหม่ Based on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เรื่อง : ผู้หญิงในบ้านพักฉุกเฉิน , ผู้เขียน : จิตรา นวลละออง...