ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน?
Based on true
story by บ้านพักฉุกเฉิน
สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
เรื่อง :
ผู้หญิงในบ้านพักฉุกเฉิน
ผู้เขียน : จิตรา
นวลละออง
“ตะวัน” หญิงสาวผิวขาว
อายุ 29 ปี
ขณะนี้เธอกำลังตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สอง
เธอเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว
พ่อแม่ของเธอแยกทางกันตั้งแต่เธออายุได้เพียง 9 ขวบ
หลังจากพ่อแม่แยกทางกัน พี่สาวและแม่ส่งให้ตะวันเรียนจนจบป.6 แม้ว่าท่านทั้งสองจะอยากส่งให้ตะวันเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปอีก
แต่ตะวันก็ไม่อยากเรียนเธออยากทำงานมากกว่า ตะวันจึงออกมาทำงานรับจ้างที่ร้านวีดีโอแห่งหนึ่ง
ซึ่งรายได้ก็ไม่ได้มากมายนัก แต่ว่าอาศัยกินอยู่ที่บ้านนายจ้างก็พออยู่ได้
จนกระทั่งตะวันอายุได้ 17 ปี เธอจึงได้พบกับ “นายวัฒนา”
ซึ่งเป็นลูกค้ามาเช่าวีดีโอที่ร้าน
นายวัฒนามีอายุมากกว่าตะวันถึง 16 ปี คบหากันไม่นานก็จดทะเบียนสมรสอยู่กินกับเขาเลย
นายวัฒนานั้นเป็นพนักงานบริษัท
ชีวิตครอบครัวของตะวันกับวัฒนานั้นก็ดีไม่มีอะไรแต่ในความไม่มีอะไรก็มีปัญหาช่องว่างระหว่างวัย
นายวัฒนานั้นมีความเป็นผู้ใหญ่ แต่ ตะวันนั้นยังมีความเป็นเด็กเอาแต่ใจ
จนทะเลาะกันและห่างเหินกัน ตะวันใช้ชีวิตครอบครัวกับนายวัฒนาได้ 5 ปี มีลูกด้วยกันหนึ่งคน และชีวิตคู่จบลงที่ต้องแยกทางกันด้วยเหตุผล “เราไปด้วยกันไม่ได้”
ซึ่งหลังจากตกลงหย่ากันฝ่ายนายวัฒนาได้รับลูกไปดูแล
หลังจากแยกทางกับนายวัฒนา
ตะวันได้ไปทำงานเป็นลูกจ้างบริษัท ซึ่งทำให้ตะวันได้มาพบกับ “นายจิม”
นายจิมอายุมากกว่าตะวัน 3 ปี ตะวันตัดสินใจจดทะเบียนสมรสและอยู่กินกับนายจิมอย่างรวดเร็ว
ชีวิตคู่ของตะวันกับนายจิมก็ไม่ราบรื่นนักเพราะนายจิมเป็นคนหน้ตาดี เจ้าชู้ กินเหล้า
ชอบเที่ยว ตะวันอยู่กับนายจิมได้หนึ่งปีนายจิมก็ทอดทิ้งเธอไปมีผู้หญิงอื่น
โดยที่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากันเลย ตะวันบอกว่า
“เขาทิ้งหนูไปอยู่กับผู้หญิงคนนั้นเลย ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากันเลยด้วยซ้ำ
นี่ผ่านมาสองปีกว่าก็ยังไม่ได้เจอกันเลย”
แต่ก็ยังโชคดีที่ตะวันไม่ได้มีลูกกับนายจิม
เมื่อนายจิมทอดทิ้งไป ตะวันก็ทำงาน
ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวจนกระทั่งเพื่อนได้แนะนำให้ตะวันได้รู้จักกับ “นายพล”
เด็กรุ่นน้องอายุน้อยกว่าเธอ 4 ปี
คบกันไม่นานนายพลก็ชวนตะวันไปอยู่กินด้วยกันที่บ้านซึ่งมีพ่อแม่และย่าของเขาอยู่ด้วย
การอยู่ร่วมกับครอบครัวของนายพลไม่ราบรื่นนักเพราะญาติฝ่ายชายไม่ชอบตะวันมักจะหาเรื่องด่าว่าตำหนิติเตียนอยู่ตลอดเวลา
ตะวันไม่มีความสุขเลย อยู่ด้วยกันไม่นานก็มีปัญหาเพราะนายพล เจ้าชู้ ชอบเที่ยว
และมีผู้หญิงอื่น จนมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันแทบทุกวัน
ยิ่งเมื่อตะวันท้องเธอก็มีอารมณ์หงุดหงิดมากขึ้น
ทั้งยังให้ความสุขเรื่องเพศกับนายพลไม่ได้อีก
“เขาบอกว่าเบื่อเรา เราอ้วนขึ้น
เขาด่าเราทุกวันเลยว่า ...อีแก่... เขาบอกว่าเขาได้เด็กอายุ 17,18 เอง ผู้หญิงนะแค่สี่ห้าร้อยก็ได้แล้วแบบเขาดูถูกผู้หญิง แล้วเขาก็ทุบตีตลอดยิ่งตอนท้องยิ่งทำ
ตบ เตะ ตบจนปากแตก ตาบวม ตาเขียว หัวแตก”
ช่วงท้องได้ 3 เดือน ก็มีเหตุทะเลาะกันเพราะนายพลกลับบ้านดึกแล้วตะวันก็ต่อว่านายพลไปว่า
“กลับดึกไปเที่ยวผู้หญิงเหรอ?”นายพลก็ลอยหน้าลอยตาตอบว่า“เปล่าแค่ไม่อยากกลับบ้านเร็วเฉยๆ”
ตะวันก็ตอบโต้นายพลอย่างรุนแรงพร้อมทั้งประชดประชันว่า
“แล้วตั้งแต่มีลูกนี่ทำไมไม่ดูแลกัน? อยากให้ทำแท้งไปเลยใช่ไหม?
ถ้าอยากให้ทำแท้งก็เอาเงินมาสิ”
ด้วยเหตุนี้นายพลพร้อมแม่กับพี่สาวจึงไปเอาเงินมาให้ตะวันไปทำแท้ง
แต่ตะวันก็ไม่ได้รับเงินนั้นมา หลังจากนั้นนายพลจึงใช้ไม้ตีเธอ
ตะวันยกแขนบังป้องกันตนเองจึงได้รับบาดเจ็บที่แขนเลยตัดสินใจไปแจ้งความ ลงบันทึกประจำวันไว้
หลังจากเหตุการณ์นั้นนายพลและครอบครัวก็ไม่ได้ให้ความสนใจในตัวตะวันและลูกในท้องอีกเลย
ปล่อยให้ตะวันอยู่แบบ อด ๆ อยาก ๆ
ตะวันบอกว่า “หมามันยังได้กินดีกว่าหนูเสียอีก”
หลังจากนั้นครึ่งเดือนนายพลก็มาบอกว่ามีเมียใหม่
และไล่ตะวันออกจากบ้าน …
“วันนั้นหนูไม่มีที่จะนอนเลย
เขาไล่หนูออกมามันมืดแล้วเขาใจดำมาก
หนูเลยมาที่บ้านพักฉุกเฉินเพราะว่าเขารับช่วยหนูตอนกลางคืน ตอนที่หนูไม่รู้ว่าจะซุกหัวนอนที่ไหน”
ตะวันพักเพื่อรอคลอดที่บ้านพักฉุกเฉิน
ตะวันไม่คิดจะยกลูกให้กับนายพล เธอจะเลี้ยงดูลูกของเธอเอง เธอรู้สึกว่า
เธอไม่ได้รับความยุติธรรมจากนายพลและครอบครัว
ทั้งครอบครัวนายพลยังบอกกับตะวันให้ได้เจ็บใจอีกว่า เธอเป็นคนมั่ว
เด็กในท้องจะใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของนายพลหรือเปล่าก็ไม่รู้...
ตะวันทิ้งท้ายด้วยการบอกความต้องการของตนเองด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจและตรงไปตรงมาว่า
“ความรับผิดชอบหรือเงินค่าเลี้ยงดูหนูก็อยากได้นะ
แต่ หนูอยากได้ความยุติธรรมมากกว่า”
...……………………………………………………………………………………………………………
หากผู้หญิงและเด็ก
ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี
สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่
สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1 ซ.เดชะตุงคะ 1 ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ
10210 โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม.
ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-7 ต่อ 109,113 E-mail: admin@apsw-thailand.org เว็บไซต์สมาคม www.apsw-thailand.org