วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561


นัดดากับชีวิตที่ถูกกระทำ
Based on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
เจ้าของเรื่อง: ผู้หญิงและเด็กที่พักพิงอยู่ในบ้านพักฉุกเฉิน
ผู้เขียน: ปองธรรม สุทธิสาคร ,Edit:จิตรา นวลละออง
  หญิงร่างบางวัย 36 ปี กำลังเดินเก็บเศษขยะไปรอบๆ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ อย่างชนิดเอาเป็นเอาตาย
                เปล่าเลย...เธอไม่ได้เป็นคนรักสะอาด หรือมีน้ำใจไมตรีอยากช่วยเหลืองานของแม่บ้าน หากแต่เป็นเพราะเศษขยะ คือสิ่งที่เธอชอบนำไปเก็บสะสมไว้ คล้ายกับใครหลายๆคน ที่ชอบสะสมภาพของดารานักร้องนักแสดงชื่อดัง เป็นงานอดิเรก
                สิ่งที่หญิงสาวทำ มองอีกมุมหนึ่งก็ชักชวนให้น่าคิด...คนแบบไหนกันที่สะสมเศษขยะเป็นของตัวเอง ใครๆ ที่นี่เรียกขานเธอว่า “นัดดา”
                นัดดา เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน แต่เรื่องฐานะความเป็นอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่สุด เมื่อเทียบกับการเกิดมาในบ้านที่ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวนิยมใช้ความรุนแรง
                ภาพของพ่อที่ทำร้ายทุบตีแม่ คือภาพที่นัดดาเห็นจนชินตามาตั้งแต่เด็ก  ยามใดที่ผู้เป็นพ่อเมากลับมาบ้าน เมื่อนั้นแม่ของเธอก็จะกลายเป็นกระสอบทรายคอยรองรับทั้ง หมัด เท้า เข่า ศอก  แถมพ่อยังด่าทอแม่ด้วยถ้อยคำหยาบคายต่างๆ นานาเหยียบย่ำความเป็นผู้หญิงของแม่จนต่ำตมจมดิน
                มิใช่เพียงแต่แม่เท่านั้นที่ถูกพ่อทำร้ายทุบตี ลูกสาวอย่างเธอเองก็ถูกผู้นำครอบครัวต่อย เตะ อยู่บ่อยๆ หลายครั้งเมื่อเธอทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ เด็กหญิงจะถูกซ้อมเพื่อเป็นการสั่งสอนให้หลาบจำ   แทนที่ชีวิตจะได้พบเจอกับความอบอุ่นเหมือนเช่นเด็กทั่วไป นัดดากลับต้องเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความเก็บกดและความหวาดกลัว เด็กหญิงร่างบางไม่กล้าแม้แต่จะสบตากับผู้คน และมีกิริยาที่ดูลุกลี้ลุกลน ไม่มั่นใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา
                นัดดา มีสามีตั้งแต่ยังสาวรุ่น ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน พ่อของลูกแทบจะถอดนิสัยมาจากพ่อแท้ๆของนัดดาทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งติดเหล้า เสพยาบ้า และเมื่อเธอทำอะไรไม่ถูกใจ เขาจะระบายอารมณ์ด้วยการใช้ความรุนแรง
                “นัดดา เป็นคนที่โชคร้ายมาก สามีชอบใช้ความรุนแรง กลับบ้านมาไม่มีอะไรเตรียมไว้ให้กินก็ตบเธอ บางครั้งก็จับเอาหัวเธอโขกกับกำแพง ตลอดเวลาหลายสิบปีที่อยู่ด้วยกัน เธอต้องทนรองรับความรุนแรงแบบนี้แทบทุกวัน จิตใจจมอยู่แต่กับความหวาดกลัว จนอยู่ในสภาพไม่ปกติ ขณะเดียวกันเธอก็สะสมความรุนแรงเอาไว้ในตัว หากมีใครก็ตามที่ทำให้เธอรู้สึกว่าตนมีอำนาจเหนือกว่าก็พร้อมจะระบายความรุนแรงเข้าใส่ทันที จากผู้ที่ถูกกระทำมาตลอด อีกทางหนึ่งเธอก็กลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงเสียเอง”
                นักจิตวิทยา แห่งบ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ผู้ทำหน้าที่ประเมินคัดกรองสภาพจิตใจของสมาชิกในบ้านพักฉุกเฉิน ได้แสดงทัศนะในกรณีของนัดดาไว้อย่างน่าสนใจ
                ไม่ว่าชีวิตของมนุษย์จะพบเจอกับปัญหามากมายเท่าใด ความรุนแรงไม่เคยเป็นหนทางในการแก้ปัญหาที่ดี ตรงกันข้ามปัญหาเหล่านี้มีแต่จะสะสมเพิ่มพูน ไม่ต่างอะไรจากระเบิดเวลาที่รอวันนับถอยหลัง ความรุนแรงที่สะสมอยู่ในใจของนัดดาก็เช่นกัน เมื่อนานวันเข้าเธอก็ส่งต่อความรุนแรงที่ตนเองเคยได้รับไปสู่ผู้เป็นลูก
                “เมื่อลูกทำในสิ่งที่เธอไม่พอใจ เธอก็ไปลงกับลูก เนื่องจากลูกเป็นคนเดียวที่เธอรู้สึกว่ามีอำนาจเหนือกว่า เธอทำลงไปทั้งๆ ที่เธอก็รักลูก”
                การถูกทำร้ายที่สั่งสมมานานหลายสิบปี ส่งผลให้สภาพจิตใจของนัดดาไม่ปกติ และกลายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชในที่สุด
                “ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวช จะมีลักษณะบางอย่างที่ไม่เหมือนคนปกติ อาจมากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็จะแสดงอาการออกมาไม่ว่าจะเป็นแววตา ท่าทาง การพูดจา หรือมีบุคลิกแปลกๆ อย่างนัดดานี่เห็นครั้งแรกก็พอจะตั้งข้อสงสัยได้เลย เนื่องจากการไม่ดูแลตนเอง เหาเต็มศีรษะ ผอมแห้งจนหนังติดกระดูก และไม่ใส่ใจรักษาความสะอาด”
                นอกเหนือจากประเมินจากลักษณะภายนอกที่ทำให้รู้ว่านัดดามีภาวะที่ต่างจากคนปกติทั่วไป ยิ่งเมื่อได้ลองนั่งพูดคุยด้วยกันยิ่งย้ำชัดยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่นักจิตวิทยาคาดการณ์ไว้นั้นถูกต้องอย่างไม่ผิดเพี้ยน
                “คุยกับนัดดาครั้งแรกเธอเอาแต่อยู่ในโลกของเธอ เหม่อลอยพูดไปเรื่อยไม่ยอมหยุด ต้องคอยบอกย้ำให้เธอกลับมาหาปัจจุบันอยู่ตลอด ดีหน่อยที่ยังไม่ถึง ขั้นหูแว่ว ประสาทหลอน หรือมีอาการหนักถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย แต่ก็ต้องคอยระวังดูแลด้วยการให้ทานยาจิตเวชและไม่ให้มีสิ่งเร้าที่จะมากระตุ้นให้เธอเกิดอาการคลุ้มคลั่ง”
                 แม้จะพยายามระมัดระวังเป็นอันดี แต่ด้วยความที่ต้องอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก แถมแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหาของตัวเอง ทำให้การกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ ในยามที่จิตใจของนัดดาถูกกระทบกระเทือนมากๆ จนยากจะเยียวยาไหว บ้านพักฉุกเฉินจะส่งตัวเธอไปรักษาที่สถานพยาบาลเฉพาะทางเป็นระยะๆ กระทั่งอาการดีขึ้นจึงไปรับตัวกลับมา
                บ้านพักฉุกเฉิน ได้พยายามผลักดันให้สาวใหญ่ร่างผอมบางผู้นี้ได้ปรับตัวเพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนและใช้ชีวิตอย่างคนปกติในสังคมให้ได้ ด้วยการให้ออกไปทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาดที่บ้านหลังหนึ่ง      แน่นอนว่าการส่งเสริมให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตไปทำงานนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างแรกต้องเป็นความร่วมมือระหว่างบ้านพักฉุกเฉินกับบ้านนายจ้างที่มีน้ำใจและให้การยอมรับผู้ด้อยโอกาส ต่อมาจึงเริ่มทดลองส่ง นัดดาไปทำงาน และเอาใจช่วยกันแทบจะวันต่อวันว่าขอให้การทำงานของนัดดาเป็นไปอย่างราบรื่น อย่างน้อยก็เพื่อตัวเธอเอง และเพื่อลูกของเธอ  ช่วง 2-3 เดือนแรก บ้านพักฉุกเฉินไปเยี่ยมไปติดตามผล ปรากฏว่าสุชาดาสามารถทำงานและอยู่ร่วมกับครอบครัวนายจ้างได้ดี  แต่พอเดือนถัดมานัดดาก็เริ่มมีอาการเหม่อลอย ตาขวางใส่นายจ้างทำให้นายจ้างและครอบครัวเกิดความกลัว  และ ต้องพานัดดามาส่งคืนที่บ้านพักฉุกเฉิน เนื่องจากนัดดามีอาการตัวแข็ง ตาขวาง ทำให้นายจ้างและคนในครอบครัวรู้สึกหวาดกลัว
                ที่สุดแล้ว แม้นัดดาจะไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง  แต่เธอก็อยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินจนครบกระบวนการในการดูแล ฟื้นฟู และบำบัดเป็นเวลาหลายปี  ก่อนที่ทางสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ต้องส่งต่อไปให้บ้านหลังใหม่เพื่อช่วยดูแลฟื้นฟูอาการทางจิตของเธอต่อไป    ในมุมมองของนักจิตวิทยาของบ้านพักฉุกเฉินมองว่า ผู้ป่วยทางจิตใจเช่น นัดดา นั้นน่าเห็นใจกว่าคนที่เป็นโรคร้ายทางร่างกายด้วยซ้ำไป
                “เรารู้สึกว่าผู้ป่วยจิตเวชเขาน่าสงสาร น่าเห็นใจ เพราะอาการทางกายยังมียารักษาได้ แต่อาการทางใจที่ถูกกระทำย่ำยีจนแทบจะสูญเสียความเป็นมนุษย์คงไม่มียาชนิดไหนจะรักษาให้หายขาดได้เลย ต่อให้เป็นโรคร้ายอย่างเอชไอวี แต่ผู้ป่วยก็ยังสามารถรักตัวเองเป็น รักคนอื่นได้ กินอาหารที่อร่อย ทำอะไรที่เป็นความสุขของชีวิตได้อีกหลายอย่าง แต่สำหรับผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนหมดคุณค่าในตนเองจนกระทั่งกลายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชความสุขของพวกเขาได้ถูกทำลายให้หมดไปตั้งนานแล้ว”
                ตลอดชีวิต 36 ปีของนัดดานั้นเธอตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาตลอด จนถึงวันนี้ นัดดา ได้ไปใช้ชีวิตในบ้านสงเคราะห์ของภาครัฐ  ซึ่งก็คงต้องให้การดูแล ฟื้นฟูบำบัด สภาพจิตใจของเธอกันต่อไป แม้จะไม่รู้ว่าจะมีวันใดที่นัดดาจะสามารถกลับมาเป็นปกติ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือผู้ป่วยจิตเวชอย่างเธอล้วนแล้วแต่น่าเห็นใจเสมอ
………………………………………………………………………………………………………………..
หากผู้หญิงและเด็ก ท่านใดประสบปัญหาในชีวิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว  ท้องไม่พร้อม ถูกข่มขืน หรือติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่  สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน 501/1  ซ.เดชะตุงคะ 1    ถ.เดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210  โทรศัพท์ 0 2929 2222 ตลอด 24 ชม. ในกรณีที่ท่านต้องการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในบ้านพักฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และหาทุน โทร. 0 2929 2301-7 ต่อ 109,113 E-mail: admin@apsw-thailand.org เว็บไซต์สมาคม www.apsw-thailand.org 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ชีวิตใหม่

  ชีวิตใหม่ Based on true story by บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เรื่อง : ผู้หญิงในบ้านพักฉุกเฉิน , ผู้เขียน : จิตรา นวลละออง...